ไข้หวัดใหญ่ VS ติดเชื้อ "โอมิครอน" อาการแตกต่างกันอย่างไร?

03 ม.ค. 2565 | 20:01 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2565 | 02:28 น.
18.0 k

เจาะข้อมูล ไขข้อข้องใจ อาการของ "ไข้หวัดใหญ่" และ อาการโควิด "โอมิครอน" แตกต่างกันอย่างไร ? ขณะอิสราเอลผวา! พบหญิงติดโควิดควบไข้หวัดใหญ่รายแรก

3 ม.ค.2564 - สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกและประเทศไทย กลับมาทวีความน่ากังวลอีกครั้ง โดยเฉพาะจากการลุกลามของ เชื้อกลายพันธุ์ "โอมิครอน

 

สำหรับประเทศไทย วันนี้ พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,927 ราย ผู้เสียชีวิต 18 ราย และพบความน่าเป็นห่วง จากการแพร่ระบาดลักษณะคลัสเตอร์ในหลายจังหวัด โดยมีการติดเชื้อชนิด "โอมิครอน" ร่วมด้วย  

ขณะมีรายงานต่างประเทศ ว่าวันนี้ประเทศอิสราเอล พบหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ภายในเวลาเดียวกัน นับเป็นกรณีการติดเชื้อไวรัสสองชนิดพร้อมกันทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน มักจะมีอาการเล็กน้อย หรือแทบจะไม่แสดงอาการเลย บางลักษณะคล้ายกับการเป็น "ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งอาจทำให้ผู้ติดเชื้อชะล่าใจ ไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกวิธีได้ 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวม ลักษณะอาการของ "ไข้หวัดใหญ่" และ อาการโควิด "โอมิครอน" ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านดังนี้ 

 

โดย โรงพยาบาลศิครินทร์ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ไว้ว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี และซี โรคไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดแต่อาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้

 

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

  • มีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา
  • ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ
  • ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้

 

โรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้ โดยมากเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง แพทย์จะมีการพิจารณาให้ยาต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) รับประทาน

 

" หากพบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง และสงสัยว่ามีอาการไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ให้รีบมาพบแพทย์เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนบุคคลทั่วไปหากมีอาการป่วยและอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา" 

 

อาการโควิดโอมิครอน

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (B.1.1.529) จากรายงานส่วนใหญ่ในผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วมักพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการเล็กน้อยหรือแทบจะไม่แสดงอาการเลย โดยอาจพบอาการเหล่านี้ได้

 

  • อ่อนเพลีย
  • เหนื่อยง่าย
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • ไม่ค่อยมีไข้
  • จมูกยังได้กลิ่น
  • ลิ้นยังสามารถรับรสได้
  • อาจมีอาการไอเล็กน้อย
  • ปอดอักเสบ

 

ล่าสุด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเทศอังกฤษ ได้อัพเดทอาการใหม่ของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเติม 5 อาการ ซึ่งอาการเหล่านี้แตกต่างจากโควิดสายพันธุ์อื่นๆ

  • เจ็บคอ
  • ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย
  • เหนื่อย อ่อนเพลีย
  • ไอแห้ง
  • เหงื่อออกมากตอนกลางคืน


" ปัจจุบันพบรายงานผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้แล้ว แม้ว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการไม่รุนแรงหรือแทบไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม เราควรต้องเฝ้าระวังและดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะนำให้รีบไปรับวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว" 

 

ทั้งนี้ ใครที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป สามารถรับวัคซีนเข็ม 3 (Booster Dose) เพราะร่างกายของเราต้องการระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น ที่สำคัญอย่าลืมป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด แม้ว่าจะเคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว หรือฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็ยังคงติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้ได้!

 

ที่มา : โรงพยาบาลศิครินทร์