เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการลุ่มน้ำจันทบุรี ชป. ลุยศึกษาอาคารบังคับน้ำ

03 พ.ย. 2564 | 20:36 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 03:36 น.

กรมชลประทานเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำ 2 แห่ง ฝายบ้านแตงเม และฝายท่าหลวงบนระยะเร่งด่วน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำจันทบุรี

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน (ชป.) เปิดเผยว่า กรมฯ เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำ 2 แห่ง ในแม่น้ำจันทบุรี อาคารบังคับน้ำฝายบ้านแตงเม และ อาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบนในระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม และการเกษตร ในพื้นที่ อำเภอมะขาม และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ มากกว่า 12,380 ไร่

ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดจันทุบรี การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การบรรเทาอุทกภัย และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบกับ ผลการศึกษาศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำ การผันน้ำ การปรับปรุงอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำจันทบุรี

โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ นำไปสู่การจัดทำแผนหลักในการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรี ที่มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบทั้งในระดับลุ่มน้ำและระดับท้องถิ่น และมุ่งเน้นให้เป็นไปตามความต้องการและเป็นที่ยอมรับของท้องถิ่นอย่างแท้จริง แผนหลักในการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรี ประกอบด้วย
1.การก่อสร้างโครงการอาคารบังคับน้ำ (ฝาย) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ฝายบ้านแตงเม ฝายท่าหลวงบน และฝายบ้านปึก (กรมพัฒนาที่ดิน) และปรับปรุงฝายเดิมตามลำน้ำแม่น้ำจันทบุรีอีก 12 ฝาย
2.การพัฒนาโครงการท่อผันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด 3 แนว ได้แก่ แนวผันน้ำตอนบน (1) โครงการแนวผันจากอ่างเก็บน้ำคลองหางแมวไปยังอ่างเก็บน้ำศาลทราย (2) แนวผันจากอ่างเก็บน้ำคลองหางแมวและอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดไปยังอ่างเก็บน้ำศาลทราย และแนวผันน้ำตอนล่าง คือ (3) แนวผันจากคลองวังโตนดไปยังอ่างเก็บน้ำคลองโล่งโค่ง
3.การพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 โครงการ
เมื่อดำเนินการตามแผนหลักโครงการระดับลุ่มน้ำ จะทำให้ในพื้นที่ศึกษาโครงการมีความจุเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 409 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 280,376 ไร่ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 12,244 ล้านบาท 
อย่างไรก็ตามจากผลการจัดลำดับความสำคัญของโครงการทั้งหมดแล้ว พบว่า โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนและสามารถดำเนินการได้เป็นลำดับที่ 1 และ 2 คือ โครงการฝายบ้านแตงเม และฝายท่าหลวงบน 
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำจันทบุรีตลอดหลายปีที่ผ่าน พบว่า ประชาชนและเกษตรกร มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้รับความเสียหาย
กรมชลประทานได้ศึกษาวางโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการวางแผนก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในรูปแบบฝายทดน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมติดตั้งบานระบายแบบบานพับได้ เพื่อเพิ่มระดับเก็บกักให้สูงขึ้นจากระดับสันฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากสามารถพับตัวบานระบายให้ขนานกับสันฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการน้ำต้นทุนและเพิ่มระยะทางเก็บกักน้ำให้มีความจุน้ำเพิ่มขึ้น

เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำจันทบุรี
ส่วนอาคารบังคับน้ำฝายบ้านแตงเม เดิมเป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็กความสูงประมาณ 3.50 เมตร ปัจจุบันไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มศักยภาพของลำน้ำ ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้นจึงต้องก่อสร้างฝายทดน้ำใหม่แทนฝายเดิมที่มีอยู่ โดยแบบการก่อสร้างเบื้องต้นเป็นฝายทดน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3.00 เมตร 
พร้อมติดตั้งบานระบายแบบบานพับได้ขนาดความกว้าง ประมาณ 45 เมตร ความสูงของบานระบายแบบบานพับ 4.25 เมตร เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2.53 ล้าน ลบ.ม. โดยมีสถานีสูบน้ำตั้งอยู่ที่บ้านวังแซ้ม สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีโดยส่งน้ำเข้าท่อส่งน้ำโดยตรง เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่รับประโยชน์ด้วยระบบท่อส่งน้ำรับแรงดัน รวมความยาวท่อส่งน้ำประมาณ 9.91 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4,980 ไร่ ใน 7 หมู่บ้าน ของ ตำบลวังแซ้ม
ด้านการออกแบบเบื้องต้นของการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำฝายท่าหลวงบน เป็นการก่อสร้างฝายทดน้ำแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของฝายวังจะอ้าย เป็นฝายทดน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3.00 เมตร พร้อมติดตั้งบานระบายแบบพับได้ ขนาดความกว้าง ประมาณ 50 เมตร ความสูงของบาน 4.45 เมตร เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 3.38 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีสถานีสูบน้ำบ้านท่าหลวงบนตั้งอยู่ที่บ้านท่าหลวงบน และสถานีสูบน้ำบ้านท่าหลวงล่างตั้งอยู่ที่บ้านท่าหลวงล่าง จะสูบน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีส่งน้ำเข้าท่อส่งน้ำ โดยตรงเพื่อกระจายน้ำไปสู่พื้นที่รับประโยชน์ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาด้วยระบบท่อส่งน้ำรับแรงดัน รวมความยาวท่อส่งน้ำประมาณ 14.35 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 7,400 ไร่ ใน 8 หมู่บ้าน ของ ตำบลท่าหลวง และ ตำบลมะขาม
นอกจากนี้ กรมชลประทานได้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เหมาะสม ซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 2 โครงการ จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ กว่า 12,380 ไร่ ประชาชนมีแหล่งเก็บกักน้ำที่มั่นคงเพื่อใช้ในฤดูแล้งอย่างเพียงพอต่อความต้องการทั้งในด้านการอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ 
รวมถึงช่วยลดปัญหาอุทกภัย หรือน้ำท่วมในเขตพื้นที่ จังหวัดจันทบุรีได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถยกระดับไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ แหล่งประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น