7 เรื่องต้องรู้ โควิดเดลต้าพลัส AY.1 ในไทย ก่อนเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้

29 ต.ค. 2564 | 09:08 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 16:25 น.
623

โควิดกลายพันธุ์ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ยิ่งในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะ "เปิดประเทศ" เเต่กลับพบโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสในไทย "ฐานเศรษฐกิจ" จึงรวบรวม 7 เรื่องต้องรู้ "โควิดเดลต้าพลัส" AY.1 ในไทย ก่อนเปิดประเทศ มาให้ได้เข้าใจง่ายๆ

เกาะติดประเด็นโควิดกลายพันธุ์ “โควิดเดลต้าพลัส” ในประเทศไทยโดยช่วงเวลาที่เหลืออีกเพียง 3 วัน ก็จะ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำ

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า พบคนไทย 1 ราย ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสที่จังหวัดกำแพงเพชรโดยเชื้อโควิดเดลต้าพลัสดังกล่าว

ตรวจพบว่าเป็นเชื้อรหัส AY.1 ไม่ใช่เชื้อตัวเดียวกับที่กำลังระบาดหนักในอังกฤษ ที่มีรหัส AY.4.2

ขณะที่ข้อมูลจาก "กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน" โดย นพ.เฉวตสรร นามวาท ระบุว่า โควิคสายพันธุ์เดลต้าพลัส ในช่วง 28 วันที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้ติดตามการติดเชื้อในประเทศอังกฤษ พบว่า เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 6% ของสายพันธุ์อื่น ๆ

โดยกระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลเพิ่มเติมตลอดเวลา และองค์การอนามัยโลกยังไม่มีการยกระดับของสายพันธุ์

สำหรับไทยพบผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาพลัส เพียง 1 คน และไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด จากการสุ่มตรวจเชื้อกลายพันธุ์ พบว่า ระยะหลังการแพร่ระบาดในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจเชื้อ 1,000 กว่าราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 98.6

ส่วนใน 4 จังหวัดใต้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 90.3 สายพันธุ์อัลฟา ร้อยละ 4.7 สายพันธุ์เบต้า ร้อยละ 5 ทำให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทยตอนนี้เป็นการระบาดของเชื้อเดลตาเป็นหลัก ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ มีแนวโน้มลดลง

1.เดลต้าพลัส AY.1 คืออะไร

เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของเดลต้า ที่มีทั้งหมด 47 สายพันธุ์ มีชื่อเรียก AY1-47 หรือที่เรียกว่าโควิดเดลต้า สายพันธุ์ย่อยเหล่านี้พบในประเทศไทย 18 สายพันธุ์ เช่น AY.3, AY.4, AY.10 เป็นต้น พบมากที่สุดคือเดลต้าพลัส AY.30 จำนวน 1,341 ราย และ AY.39 จำนวน 83 ราย

สายพันธุ์ที่พบแพร่ระบาดอยู่ในประเทศอังกฤษ คือ เดลต้าพลัส AY.4.2 ที่มีการกระจายตัวของเชื้อเร็วขึ้น 10-15% แต่ยังไม่รพบในประเทศไทย

2.เดลต้าพลัส AY.1 รุนแรงแค่ไหน

ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าหลีกหนีภูมิคุ้มกันได้ และความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือดื้อวัคซีน นั่นหมายความว่าวัคซีนโควิด-19 ก็น่าจะยังยังจัดการได้

3.โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส

พบครั้งแรกเดือนเมษายน 2564 ที่ประเทศอินเดีย มีการกลายพันธุ์ในกรดอะมิโนที่เรียกว่า k417n มีการระบาดไปในหลายประเทศ อาทิ  สหรัฐฯ อังกฤษ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน และไทย

4.เดลต้าพลัสแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดลต้า

  1. แพร่เชื้อง่ายขึ้น เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น
  2. ไวรัสเกาะจับเซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น
  3. ต่อต้านการรักษาด้วยแอนติบอดี้
  4. หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี
  5. แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาปกติ (B.1.617.2) 17%
  6. เพิ่มอัตราการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากขึ้นกว่าเดิม 12%
  7. ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันแน่ชัดว่า ทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตหรือไม่

5.อาการโควิดสายพันธุ์เดลต้า

  1. ปวดหัว
  2. มีน้ำมูก
  3. มีไข้ เจ็บคอ
  4. อาการคล้ายไข้หวัด
  5. ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส
  6. อาจไม่แสดงอาการหนักในผู้ติดเชื้อที่อายุน้อย จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวและเกิดการแพร่เชื้อในวงกว้างเร็วยิ่งขึ้น

6.ประสิทธิภาพวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลต้า

วัคซีนไฟเซอร์

เข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%  (หมายความว่า 33% เมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ)

เข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนโมเดอร์นา

เข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%

เข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%

เข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 60%

วัคซีนซิโนแวค

ยังไม่มีรายงานในการป้องกันการติดเชื้อ

7.ข้อแนะนำ

  1. การปฏิบัติตัวตามมาตรการการป้องกันตนเอง
  2. ควรสวมหน้ากากอนามัย
  3. เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อถึง 5 เท่า
  4. ควรหมั่นล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสสารคัดหลั่งซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  6. ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด