ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างอื่นได้หรือไม่ กรณีกิจการหยุดชั่วคราว กสร.มีคำตอบ

18 ต.ค. 2564 | 11:47 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2564 | 18:50 น.
706

ลูกจ้างมีสิทธิทำงานกับนายจ้างอื่น ระหว่างกิจการหยุดชั่วคราวได้หรือไม่ กสร.มีคำตอบ แนะนายจ้างปฏิบัติตาม มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จ่ายเงินให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ได้ ขณะที่ลูกจ้างสามารถไปทำงานกับนายจ้างอื่นได้ หากเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายชดเชย

18 ตุลาคม 2564 จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว 

ผลกระทบดังกล่าว นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบกิจการที่เกิดผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมให้ชี้แจง และแนะนำให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งหากสถานประกอบกิจการที่เครื่องจักร อุปกรณ์ ฯลฯ ได้รับความเสียหาย ระหว่างน้ำท่วมขังหรือภายหลังน้ำลด นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดการผลิตหรือหยุดการให้บริการ นายจ้างสามารถหยุดกิจการชั่วคราวทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยจ่ายเงินให้ลูกจ้างในระหว่างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงาน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ทั้งนี้ในระหว่างที่สถานประกอบกิจการหยุดกิจการชั่วคราวลูกจ้างสามารถไปทำงานกับนายจ้างอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้

 

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
 

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)กล่าวว่า ระหว่างการใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุจำเป็นซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน โดยจ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ให้กับลูกจ้างนั้น แม้นายจ้างมิได้มอบหมายงานให้ทำ และลูกจ้างยังเป็นลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการก็ตาม แต่มาตรา 75 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้ลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นในระหว่างหยุดกิจการ ดังนั้นลูกจ้างจึงมีสิทธิไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้
 

อย่างไรก็ตามหากนายจ้างมีสัญญาหรือข้อบังคับห้ามลูกจ้างมิให้ทำงานกับนายจ้างรายอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของนายจ้างในระหว่างยังเป็นลูกจ้าง สัญญาหรือข้อตกลงเช่นนี้ ยังคงบังคับได้ เมื่อลูกจ้างทำผิดสัญญาหรือข้อตกลง ลูกจ้างอาจจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการทำผิดสัญญาให้นายจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่มีข้อตกลงหรือสัญญาห้ามไว้แล้วลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว แล้วนายจ้างนำเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้าง ลูกจ้าง หรือ นายจ้างระบุในสัญญาหรือมีข้อตกลงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เช่นนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ไม่ถือว่าลูกจ้างทำความผิด