"สไปค์แว็กซ์" วัคซีนโควิดตัวใหม่ เช็คประสิทธิภาพ คำแนะนำ ข้อควรรู้

09 ต.ค. 2564 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2564 | 20:20 น.
526

"สไปค์แว็กซ์" มีข้อบ่งใช้สำหรับฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันโรคโควิด เช็คประสิทธิภาพ คำแนะนำ ข้อควรรู้

สไปค์แว็กซ์คืออะไร

สไปค์แว็กซ์ คือ วัคซีนที่ใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด ที่เกิดจากเชื้อไวรัสซาร์สคอฟ-2 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปสารออกฤทธิ์ในสไปค์แว็กซ์ คือ messenger RNA (mRNA) ที่ได้รับการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์สคอฟ-2 ในการผลิตโปรตีนชนิดหนาม (Spike protein) โดย mRNA จะฝังตัวอยู่ใน SM-102 lipid nanoparticles

สไปค์แว็กซ์ออกฤทธิ์อย่างไร

สไปค์แว็กซ์จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน โดยร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 โดย mRNA ในวัคซีนจะสั่งให้เซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีนหนาม (spike protein) ที่เหมือนกับโปรตีนหนามในเชื้อไวรัส ซึ่งเซลล์ในร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาเพื่อต่อต้านโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสซึ่งจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากสไปค์แว็กซ์ไม่มีส่วนประกอบของตัวเชื้อไวรัส จึงไม่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ต่อร่างกายของท่าน

คำแนะนำและข้อควรทราบก่อนการฉีดสไปค์แว็กซ์

• ห้ามให้วัคซีนหากมีอาการแพ้ตัวยาสำคัญหรือส่วนประกอบอื่นใดในวัคซีนนี้

• คำเตือนและข้อควรระวัง แจ้งบุคลากรทางแพทย์ผู้ดูแลการฉีดวัคซีนของท่านก่อนการรับสไปค์แว็กซ์ หากคุณมีประวัติดังต่อไปนี้

เคยมีประวัติการแพ้อย่างรุนแรง ที่อาจมีอันตรายต่อชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนชนิดอื่นๆ หรือภายหลังการได้รับสไปค์แว็กซ์ในอดีต

เคยมีประวัติการแพ้อื่นๆ

เป็นผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

เคยเป็นลมหลังจากได้รับการฉีดยา

มีภาวะเลือดออกง่ายหรือหยุดยาก เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด

กำลังมีอาการป่วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก อ่อนเพลียกล้ามเนื้อ

หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ หรือมารดาที่กำลังให้นมบุตร

มีโรคประจำตัวขั้นรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้

ได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นมาก่อนหน้านี้

มีอาการวิตก กังวล ที่เกี่ยวเนื่องกับการได้รับวัคซีนนี้

เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่น ๆ การได้รับสไปค์แว็กซ์จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน อาจไม่สามารถยืนยันการป้องกันโรคหรือการติดเชื้อในผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ครบทั้งหมดทุกราย และยังไม่มีข้อมูลสรุปในขณะนี้ว่าท่านจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และเมื่อใด ภายหลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว

การใช้ในเด็ก

สไปค์แว็กซ์ไม่มีข้อบ่งใช้ในเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปี

การใช้ยาอื่นร่วมกับสไปค์แว็กซ์

แจ้งบุคลากรทางแพทย์ผู้ดูแลการฉีดวัคซีนของท่าน หากท่านเพิ่งได้รับ หรือรับประทานยาอื่นก่อนการฉีดสไปค์แว็กซ์เพราะวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของยาอื่น และยาอื่นอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของวัคซีน ได้

ผลต่อความสามารถในการขับขี่และการทำงานกับเครื่องจักร

วัคซีนไม่มีหรือมีผลกระทบน้อยมากต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานกับเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนบางอย่างอาจส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะหรือการใช้งานเครื่องจักรกลได้ จึงควรพิจารณางดเว้นการขับขี่ยานพาหนะหรือใช้งานเครื่องจักรกล หากท่านมีอาการผิดปกติ และใช้ความระมัดระวังตามความเหมาะสม

 วิธีการฉีดสไปค์แว็กซ์

จะได้รับการฉีดสไปค์แว็กซ์ ปริมาตร 0.5 มิลลิลิตร สำหรับการฉีดแต่ละครั้ง จำนวน 2 ครั้ง โดยเข็มที่สองจะฉีดห่างจากเข็มแรก 28 วัน โดยจะได้รับการฉีดวัคซีนด้วยเข็มฉีดยามาตรฐานเข้ากล้ามเนื้อที่บริเวณไหล่

บุคลากรทางแพทย์ผู้ดูแลการฉีดวัคซีน จะทำการสังเกตอาการแพ้เฉียบพลันของท่านอย่างใกล้ชิด ภายหลังการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที

หากลืมนัดหมายการฉีดสไปค์แว็กซ์เข็มที่ 2

ให้รีบไปพบบุคลากรทางแพทย์ผู้ดูแลการฉีดวัคซีน เพื่อขอรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ทันทีที่นึกได้ การกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 อาจให้ผลได้ไม่สูงสุดหากท่านไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตาม แผนที่กำหนดไว้

การสังเกตอาการผิดปกติหลังได้รับวัคซีน

ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดที่สถานพยาบาลภายหลังการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที และควรสังเกตอาการต่อที่บ้าน หากมีอาการข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อนการรับวัคซีนครั้งต่อไป ควรรับวัคซีนตามกำหนด และเก็บบันทึกการรับวัคซีนไว้เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีข้อสงสัยใดเกี่ยวกับวัคซีนควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดสไปค์แว็กซ์

แจ้งบุคลากรทางแพทย์ผู้ดูแลการฉีดวัคซีนของท่านโดยด่วนหากสังเกตเห็นอาการแพ้ ดังต่อไปนี้

• รู้สึกจะเป็นลม หรือมีอาการวิงเวียนศีรษะ

• ใจสั่นผิดปกติ

• หายใจถี่

• หายใจไม่สะดวก

• ริมฝีปาก หน้า หรือลำคอบวม

• มีผื่นขึ้น

• คลื่นไส้อาเจียน

• ปวดท้อง

ท่านอาจสังเกตพบอาการแพ้ดังนี้ได้

อายุ 18 ปีขึ้นไป

•  พบบ่อยมาก (ร้อยละ 10) : บวมแดงบริเวณรักแร้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาการปวดหรือบวมแดงบริเวณตำแหน่งที่ฉีด รู้สึกอ่อนเพลีย หนาวสั่น มีไข้

•  พบบ่อย (ร้อยละ 1) : มีผื่นขึ้น ตัวแดง หรือมีผื่นลมพิษบริเวณตำแหน่งที่ฉีด

•  พบไม่บ่อย (ร้อยละ 0.1) : มีอาการคันบริเวณตำแหน่งที่ฉีดยา

•  พบได้น้อย (ร้อยละ 0.01) : มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนปลายบริเวณใบหน้าแบบเฉียบพลัน อาการหน้าบวม (อาจเกิดได้ในผู้ที่มีประวัติฉีดสารเติมเต็มใต้ผิวหนังเพื่อความสวยงาม

•  ไม่ทราบ (ไม่สามารถประเมินได้จากข้อมูลที่มี) : อาการแพ้ชนิดรุนแรง ภาวะภูมิไวเกิน

อายุ 12-17 ปี

•  พบบ่อยมาก (มากกว่าร้อยละ 10) : อาการเจ็บ/ปวดบริเวณต้าแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย (ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น บวมแดงบริเวณรักแร้ ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน บวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน และมีไข้

• ไม่ทราบ (ไม่สามารถประเมินได้จากข้อมูลที่มี) : อาการแพ้ชนิดรุนแรง ภาวะภูมิไวเกิน

 การรายงานอาการข้างเคียงจากการใช้วัคซีน โปรดแจ้งบุคลากรทางแพทย์ผู้ดูแลการฉีดวัคซีนของท่าน หากสังเกตพบอาการข้างเคียงอย่างอื่นที่ไม่ปรากฎในคู่มือผู้รับวัคซีนนี้

หากมีอาการรุนแรงจากการรับวัคซีนนี้ควรทำอย่างไร

หากฉีดวัคซีนแล้วมีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นทั้งตัว หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก ใจสั่น วิงเวียน หรือ

อ่อนแรง หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรง

•  ควรรีบไปโรงพยาบาล หรือติดต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ

•  โทร 1669 เพื่อติดต่อสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน