ประกันสังคม ว่างงานจากน้ำท่วม เช็คหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ ที่นี่

07 ต.ค. 2564 | 01:01 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2564 | 22:02 น.
597

ประกันสังคม ว่างงานจากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วม สำนักงานประกันสังคม เปิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ ตรวจสอบที่นี่

จากกรณีสถานการณ์ที่อิทธิพล "พายุเตี้ยนหมู่" และ ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ประกันตนประกันสังคมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะลูกจ้างที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยอุทกภัย (น้ำท่วม)  

 

ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาชี้แจ้งแล้วว่า กรณีประกันสังคม ว่างงานจากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วม ได้รับสิทธิอย่างไรบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมดังนี้

 

กรณีว่างงาน

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเกิดสิทธิ

  1. จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
  2. มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  3. ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน
  4. ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
  5. เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้
  6. ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
  7. ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้
    1. ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
    2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
    3. ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี ร้ายแรง
    4. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
    5. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
    6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
    7.  ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

สิทธิที่ท่านจะได้รับประโยชน์ทดแทน เงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน ดังนี้

1.    กรณีถูกเลิกจ้าง
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทตัวอย่างเช่น  ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
2.    กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
3.    ในกรณียื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือ
สิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน  

 

ประกันสังคม ว่างงานจากน้ำท่วม เช็คหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ ที่นี่

 

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน

          1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
          2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
          3. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
          4. หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยกรณีเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
          5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 11 ธนาคาร ดังนี้ 
         1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
         2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) 
         3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
         4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) 
         5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 
         6) ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
         7) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) 
         8) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) 
         9) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  
       10) ธนาคารออมสิน 
       11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

สถานที่ยื่นเรื่อง

1.    ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ต 
(เว็บไซต์ www.empui.doc.go.th) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และรายงานตัวตามกำหนดนัด เพื่อมิให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน
2.    ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคม
กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น.

หมายเหตุ : ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 2 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

 

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม