เตือน 16ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางพลัด กทม. เตรียมรับมือน้ำเหนือ-พายุ

05 ต.ค. 2564 | 12:37 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 21:54 น.

สำนักงานเขตบางพลัด กทม. เฝ้าระวังเข้ม 24ชั่วโมง 16ชุมชน ประชาชนตั้งบ้านเรือนริมเจ้าพระยา ทั้งนอก -ในคันกั้นน้ำ รับมือน้ำเหนือเอ่อล้นเข้าท่วม-พายุถล่ม-น้ำทะเลหนุน

 

กรุงเทพมหานครไข่แดงเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ   กำลังเผชิญกับการเดินทางมาของมวลน้ำก้อนใหญ่ทางตอนเหนือ พายุถล่มและน้ำทะเลหนุน  สำหรับแผนรับมือบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งผลักดัน ลงสู่อ่าวไทย ที่จังหวัดสมทรปราการโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามแม้ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมืองผู้ว่ากทม.จะยืนยันว่า ปี2564จะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี2554 แต่ก็ไม่ควรประมาท หากน้ำเหนือมา-พายุเข้า-น้ำทะเลหนุนสมทบ อาจเอื่อเข้าท่วมกรุงเทพชั้นกลาง และชั้นในได้ง่าย แต่สำหรับชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา สองฝากฝั่ง  ต้องเฝ้าระวัง   โดยเฉพาะชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ ที่ยังติดปัญหาไม่สามารถสร้างเขื่อนถาวรได้

แหล่งข่าวจากสำนักงานเขตบางพลัดเปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดจากการเดินทางของน้ำเหนือ ที่เติมเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำในไม่ช้า ล่าสุดได้แจ้งเตือนประชาชนทั้ง16ชุมชนให้เฝ้าระวังเตรียมยกของขึ้นที่สูง แต่ทั้งนี้ประเมินว่า ปริมาณน้ำไม่น่าจะมากเหมือนปี2554

เนื่องจากกรมชลประทานคอยพร่องน้ำออกจากเขื่อนหลักล่วงหน้าและผลักดันเข้าทุ่งรับน้ำ(แก้มลิง)ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรของประชาชน ชะลอหรือพักน้ำไว้ ก่อนระบายลัดเลาะผ่านชุมชนตามจังหวัดต่างๆ มีปลายทางที่อ่าวไทย สมุทรปราการ

"กรมชลประทานไม่รอให้น้ำเต็มเขื่อนและปล่อยพร้อมกันเหมือนบทเรียนปี2554  ที่สำคัญปีนี้ไม่มีปมปัญหาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือน10ปีก่อน"

 แนวเขื่อนถาวรป้องกันน้ำท่วม  เขตบางพลัดตั้งเหนือระดับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ความสูง1.5-2เมตร เริ่มตั้งแต่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไปจนถึงสะพานพระราม7 บริเวณวัดวิมุตยาราม บางจุดอาจแตกร้าวชำรุดมีน้ำไหลซึม  บางจุดยังเป็นฟันหลอไม่สามารถสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้  อย่าง ร้านอาหารขนาบน้ำ  ตั้งแต่บริเวณร้านอาหารยาวไปจนสุดสะพานกรุงธน หรือสะพานซังฮี้  ระยะทาง500เมตร เจ้าของร้านต้องการให้ลูกค้านั่งกินลมชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยอ้างว่า หากสร้างเขื่อนจะบดบังทัศนยภาพ สำนักงานเขตฯทำได้อย่างเดียวคือ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เสริมกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำชั่วคราว ลดผลกระทบชุมชนริมน้ำได้ อย่างไรก็ตาม หากปีนี้สถานการณ์น้ำไม่รุนแรงมองว่าน่าจะเอาอยู่

 

 

สำหรับแนวคันกั้นน้ำของกทม. ความยาว 78.93 กิโลเมตร  ครอบคลุม 9เขต  เตรียมความพร้อม เรียงกระสอบทรายบริเวณที่ไม่มีเขื่อนป้องกันน้ำถาวรและแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ ตรวจสอบ สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี รวมทั้งบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ในช่วงน้ำทะเลขึ้น จัดเวรยามเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจตราแนวป้องกันน้ำท่วม กระสอบทราย วัสดุอุปกรณ์ และพร้อมเข้าแก้ไขทันที  หากพบปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน

รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

ทั้งนี้ พลตำรวจเอกอัศวิน ขอให้หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่นอกแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วมได้  จำนวน11 ชุมชน  239 ครัวเรือน ใน7เขตได้แก่ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และคลองสาน