เอสเอ็มอี เช็คด่วน ศบศ.เคาะจ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาท พยุงจ้างงานนาน3เดือน

30 ก.ย. 2564 | 17:11 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 23:05 น.
12.7 k

มติที่ประชุม ศบศ. เห็นชอบมาตรการหลักการ เยียวยาเอสเอ็มอี หรือ โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานเอสเอ็มอี 3 เดือน จ่ายหัวละ 3,000 บาท/เดือน ให้สถานประกอบการ

วันที่ 30 กันยายน 64 มติที่ประชุมศบศ.เห็นชอบหลักการ การจ่ายเงินเยียวยาเอสเอ็มอี 3,000 บาทต่อหัวต่อเดือน ให้กับนายจ้างเอสเอ็มอี เพื่อประคองการจ้างงาน นานเป็นเวลา 3 เดือน 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (30 ก.ย.) ว่า ศบศ.เห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เสนอโดยกระทรวงแรงงาน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน ตลอดจนสร้างความแข็งแรงให้แก่ธุรกิจ

เอสเอ็มอี เช็คด่วน ศบศ.เคาะจ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาท พยุงจ้างงานนาน3เดือน

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการเยียวยาเอสเอ็มอี

  • จะต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม 
  • มีการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยไม่เกิน 200 คน 
  • ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในเดือนตุลาคม 2564 
  • รับเงินอุดหนุนในเดือนที่ 1 - 3 (ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึงมกราคม 2565)

 

เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนเยียวยาเอสเอ็มอี 

  • รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงานให้แก่นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทยต่อเดือน
  • ลูกจ้างไม่เกิน 200 คน 
  • จ่ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน 

 

เป้าหมายโครงการเยียวยาเอสเอ็มอี

  • เพื่อรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 ราย ที่มีสถานประกอบการจำนวน 480,122 แห่ง 
  • จะสามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างได้จำนวน 5,040,176 คน

เอสเอ็มอี เช็คด่วน ศบศ.เคาะจ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาท พยุงจ้างงานนาน3เดือน

โดยเงินอุดหนุนจะคำนวณตามยอดการจ้างงานจริงของทุกเดือน พิจารณาจากจำนวณลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมจากระบบประกันสังคม โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน 

ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ และหากนายจ้างไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำร้อยละ 95 ได้จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น

ขณะเดียวกัน กรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันเริ่มโครงการ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริง โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ

เอสเอ็มอี เช็คด่วน ศบศ.เคาะจ่ายเงินเยียวยา 3,000 บาท พยุงจ้างงานนาน3เดือน

นายธนกร กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นที่ประชุมเห็นชอบหลักการแนวทางการขับเคลื่อนการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน ซึ่งมีรายละเอียดแผนการดำเนินการที่สำคัญดังนี้

  • การขยายผลและพลิกโฉมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) โดยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2564 และไตรมาสแรกของปี 2565 จำนวน 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า  5,000 คน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท โดยมีแนวทาง
  • การปลดล็อกอุปสรรคการท่องเที่ยวที่สำคัญ 8 ประการ (Ease of Traveling) เพื่อให้ดึงดูดการท่องเที่ยวมากขึ้น
  • การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อการเติมโตที่มีความยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในรูปแบบการให้การอุดหนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงโดยดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
  • การประกาศส่งเสริมปีท่องเที่ยวไทย 2565 Amazing ยิ่งกว่าเดิม (Visit Thailand Year 2022 Now Even More Amazing) ภายใต้แนวคิดกิจกรรมและเอกลักษณ์ไทย 26 ประการภายใต้แนวคิด “From A to Z Amazing Thailand Has It All”