“โควิดขาลง” สธ.คาด“ตุลาคม”ติดเชื้อต่ำ 5 พันราย

28 ก.ย. 2564 | 19:16 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 02:24 น.

ปลัด สธ.ชี้สถานการณ์โควิด-19 “ขาลง”ผลจากล็อกดาวน์ คาดก่อนสิ้น  “ตุลาคม” ผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 5 พันราย แต่ห่วงแรงเหวี่ยงอาจติดเชื้อเพิ่ม เร่งฉีดวัคซีน  ประเมินมี.ค.65 โรคจะค่อยๆ สงบคลี่คลาย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด -19 ว่า สถานการณ์ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” เป็นผลมาจากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ก่อนหน้านี้ สัดส่วนผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจลดลงตามลำดับ หลังตัวเลขก่อนหน้านี้อยู่รที่ 4- 5 พันรายต่อวัน

 

ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 3 พันรายต่อวัน เข้าใจว่าขณะนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้ออยู่ในช่วงขาลง ทั้งนี้ มีการประมาณการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อราวๆ 5 พันรายต่อวัน ก่อนสิ้นต.ค.นี้

 

“นี่เป็นการประเมินตามหลักคณิตศาสตร์ แต่ยังมีหลายปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ คือ การติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) และเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ และมีการประเมินฉากทัศน์ว่าจะกระดกขึ้นหลังเดือนต.ค. เพราะหมดแรงเหวี่ยงของช่วยล็อกดาวน์”

 

ดังนั้น ยังต้องทำให้การพยากรณ์นี้ไม่เป็นจริง การติดเชื้อไม่เหวี่ยงขึ้น โดยสิ่งที่เราต้องทำไม่ว่าจะเรื่องการ์ดในการป้องกันตัวเอง เรื่องการตรวจ ATK ก็ดี มาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้งก็ดี คาดว่าน่าจะกดการติดเชื้อลงได้

“ถ้าถามว่าก่อนหน้านี้ก็ทำแต่ทำไมไม่ลดลง ก็ต้องบอกว่าตอนนี้บริบทเปลี่ยนไปแล้ว 2 เดือนก่อนการติดเชื้อไม่ลดลง เพราะการครอบคลุมวัคซีนเราต่ำกำลังเลยไม่เสริมกัน แต่วันนี้อัตราการฉีดวัคซีนของไทยมีความครอบคลุมสูงขึ้น วัคซีนไทยเริ่มที่ 11% อัตราการป่วยหนักก็เริ่มลดลง

 

ซึ่งตอนนี้คนไทยเกือบ 50 % ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ส่วนเข็ม 2 ฉีดแล้วครึ่งหนึ่งของคนฉีดเข็ม 1 คาดว่าภายในสิ้นต.ค.นี้ สัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับ 60% เข็ม 2 อยู่ที่ 50% แล้วถ้าสิ้นธ.ค. ตามเป้าหมายการฉีดคือเข็ม 1 จำนวน 80 % และเข็ม 2 จำนวน 70% เท่ากับอารยประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้”

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเหวี่ยงขึ้นไปอีก คือการเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ และเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งตอนล็อกดาวน์เหมือนเราเตะเข้าเป้าไปแล้ว ตามด้วยการฉีดวัคซีนทำให้เปลี้ยลง และเตะตัดขาด้วย ATK ทำให้เชื้อไวรัสเริ่มอ่อนกำลังลง แต่เราก็มีการ์ดป้องกันตัวเอง และโควิดฟรีเซ็ตติ้งคือระยะห่างที่ทำให้ไวรัสชกเราได้ยาก

 

“ดังนั้น เราก็จะอยู่กับมันไปอย่างนี้ แต่มันเตี้ยลงทุกวันๆ คลัสเตอร์ใหญ่ๆ ก็เกิดได้ยาก ส่วนเรื่องการกลายพันธุ์ มีผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไวรัสกลายพันธุ์ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น น่าจะอยู่ร่วมกันได้โดยโรคไม่รุนแรง คาดว่าเราจะสามารถทรงระบบอย่างนี้ไปได้ จึงคาดว่าต้นปีหน้า ราวๆ มี.ค. 2565 โรคน่าจะสงบพอสมควร ใกล้ภาวะปกติ แต่ประชาชนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยต่อไปอีกระยะ”

นพ.เกียรติภูมิ ชี้ว่า รูปแบบการติดเชื้อของเราจะเหมือนกับยุโรป เช่น อังกฤษ ที่ประชากรใกล้เคียงกับเรา เราจะฉีดวัคซีนให้ใกล้เคียงเขา ซึ่งในเดือนหน้าก็จะเท่ากัน บวกกับมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคเต็มที่ รูปแบบเราก็จะเป็นเหมือนยุโรป

 

“คาดว่ามีการติดเชื้อไม่เกิน 5 พันคนต่อวัน สามารถดูแลได้ และไม่มีการป่วยหนัก เสียชีวิตจำนวนมาก อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตไม่มากไปกว่าไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ที่การติดเชื้ออยู่ในช่วงขาลง แต่จะเห็นอัตราการติดเชื้อยังเหวี่ยงหลักพันธุ์ กับหลักหมื่นอยู่”