เช็คพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก 24 ก.ย.64

24 ก.ย. 2564 | 10:57 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 18:45 น.
10.9 k

ปภ.รายงานเกิดอุทกภัย 19 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 18,436 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด เหลือ 5 จังหวัดยังมีสถานการณ์น้ำท่วม เผยพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก 24 ก.ย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงาน จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 64 - ปัจจุบัน

ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 65 อำเภอ 189 ตำบล 807 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,436 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ดังนี้

พิจิตร ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบึงนาราง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล อำเภอสามง่าม และอำเภอดงเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร

ชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักทำให้ลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอเนินสง่า และอำเภอบ้านเขว้า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

นครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอ สูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอพิมาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร

พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ

สุโขทัย เกิดฝนตกหนักทําให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสำโรง อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอ คิรีมาศ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่รับน้ำ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน“เตี้ยนหมู่” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนามแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันปกคลุมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีในวันนี้ (24 ก.ย. 64) ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

ปภ.จึงได้ประสาน 57 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 24 – 25 ก.ย. 64 

10.00 น. รายงานสถานการณ์ ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 24 กันยายน 2564

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ (อ.จอมทอง อมก๋อย) ลำปาง (อ.งาว สบปราบ เถิน เสริมงาม เกาะคา) แพร่ (อ.วังชิ้น) ตาก (อ.เมืองฯ สามเงา บ้านตาก แม่สอด แม่ระมาด) สุโขทัย (อ.เมืองฯ คีรีมาศ ศรีสัชนาลัย) พิษณุโลก (อ.วังทอง) เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก) นครสวรรค์ (อ.แม่วงก์ ตากฟ้า) และอุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ลานสัก)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย (อ.ภูเรือ เมืองฯ) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ เกษตรสมบูรณ์ เทพสถิต) นครพนม (อ.เมืองฯ ท่าอุเทน นาแก) บึงกาฬ (อ.บุ่งคล้า บึงกาฬ) กาฬสินธุ์ (อ.สมเด็จ กุฉินารายณ์) สกลนคร (อ.สว่างแดนดิน เต่างอย) นครราชสีมา (อ.ปากช่อง วังน้ำเขียว สีคิ้ว พิมาย) ยโสธร(เลิงนกทา กุดชุม) ร้อยเอ็ด (เมืองฯ เมยวดี) มุกดาหาร (คำชะอี) อุบลราชธานี (อ.ตระการพืชผล เขื่องใน) ศรีสะเกษ (อ.ขุขุนธ์ กันทรลักษ์) สุรินทร์ (อ.ท่าตูม) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ) บุรีรัมย์ (อ.นางรอง เฉลิมพระเกียรติ)

ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ) นครนายก (อ.บ้านนา อ.เมืองฯ) จันทบุรี (อ.เมืองฯ ขลุง มะขาม) และตราด (อ.บ่อไร่)

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง คีรีมาศ ศรีสัชนาลัย)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา (อ.โชคชัย ด่านขุนทด สูงเนิน โนนสูง) และชัยภูมิ (อ.เมืองฯ จัตุรัส เนินสง่า หนองบัวระเหว บ้านเขว้า)

ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา ผักไห่ บางบาล)

พื้นที่เฝ้าระวังดินถล่ม

ภาคเหนือ จ.ลำปาง (อ.งาว สบปราบ เถิน) และตาก (อ.แม่ระมาด ท่าสองยาง)

พื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง

ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพิจิตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม

ภาคกลาง จ.ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา นราธิวาส ระนอง พังงา และภูเก็ต