กต.ตอบชัด 6 ข้อ ยันสัมพันธ์ไทย-จีนไม่มีปัญหา  

09 ก.ย. 2564 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 01:10 น.
772

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงทุกกรณีความสัมพันธ์ไทย-จีนที่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในช่วงเร็ว ๆนี้ ตั้งแต่ข้อกล่าวหาการด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค ไปจนถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงโยงการซื้อขายข้าว-ยางพารา ฯลฯ ยันสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้นดี

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงวานนี้ (8 ก.ย.) กรณีมีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไทยกับจีน มีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างกันหลายประการ ดังนี้

 

1.ไทยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีและใกล้ชิดกับนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งกับมหาอำนาจ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ อินเดีย สหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เป็นต้น โดยไทยได้รักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของนโยบายการต่างประเทศไทยมาโดยตลอด

 

2.ไทยไม่มีปัญหาใด ๆ ในความสัมพันธ์กับจีน รวมทั้งในเรื่องข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นข้อตกลงพร้อมกับข้อตกลงที่รัฐบาลจีนจะซื้อ “ข้าวเน่า” “ข้าวใหม่” และยางพาราจากรัฐบาลไทย โดยไทยดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวล่าช้า ขณะที่จีนปฏิบัติตามข้อตกลงซื้อข้าวและยางพาราจากไทยแล้ว จนทำให้จีนไม่พอใจ 

 

ประเด็นดังกล่าว นายธานีชี้แจงว่า ข้อตกลงรถไฟความเร็วสูงเป็นคนละข้อตกลงกันกับที่รัฐบาลจีนจะซื้อข้าวและยางพาราจากรัฐบาลไทย

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในกรณีโครงการรถไฟไทย - จีน รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจและบันทึกความร่วมมือกันรวม 4 ฉบับระหว่างปี 2557 – 2559 และปัจจุบันทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งดำเนินการตามข้อตกลงต่าง ๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่ 1 ของโครงการก่อสร้างระหว่างกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ซึ่งก็มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ

 

ขณะที่ในกรณีการซื้อขายข้าวและยางพาราระหว่างรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศก็ได้หารือกันมาโดยตลอดเพื่อให้การซื้อขายเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ไม่มีการระบุถึง “ข้าวเน่า” ในข้อตกลงแต่อย่างใด

 

3. สำหรับเรื่อง ปฏิญญาซานย่าและการขุดลอกแม่น้ำโขง นั้น  โฆษก กต.ย้ำว่า ปฏิญญาซานย่าเป็นปฏิญญาระดับผู้นำที่รับรองในที่ประชุมแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) ครั้งแรกที่เกาะไหหลำของจีน เมื่อ 5 ปีก่อน ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยรับรองโดย “ไม่ต้องมีการลงนาม” โดยครอบคลุมความร่วมมือหลากหลายด้าน แต่ไม่มีเรื่องการขุดลอกแม่น้ำโขง ส่วนแผนปฏิบัติการตามปฏิญญาซานย่า ไทยก็ได้ให้การรับรองเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่น และก็ไม่มีเรื่องขุดลอกแม่น้ำโขงแต่อย่างใดเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ไทยดำเนินนโยบายในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างสมดุลกับหุ้นส่วนภายนอกผ่านกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่สำคัญ ทั้งกับจีน (Mekong - Lancang Cooperation-MLC) สหรัฐอเมริกา (Mekong - U.S. Partnership ที่ยกระดับมาจาก Lower Mekong Initiative) ญี่ปุ่น (Mekong - Japan Cooperation) อินเดีย (Mekong - Ganga Cooperation) และเกาหลีใต้ (Mekong-ROK Cooperation) อันสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของไทยที่ใช้แนวทางการทูตแบบสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้ ไทยกับจีนยังมีความร่วมมือกันอย่างดีและใกล้ชิดในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ทั้งกรอบ GMS (Greater Mekong Subregion) และแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ซึ่งมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการ cross-border e-commerce (การให้สิทธิพิเศษทางภาษี) ระหว่างไทย-ลาว-จีน ซึ่งจีนสนับสนุนเงินทุนสำหรับการจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ของโครงการด้วย

 

4. กรณีการกล่าวอ้างว่า มีการด้อยค่าวัคซีนจีนอย่างเป็นระบบโดยหน่วยงานของรัฐบางแห่งและเจ้าหน้าที่หลายคนของไทยนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งในสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ว่าการที่บางกลุ่มบุคคลด้อยค่าวัคซีนซิโนแวคไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและความถูกต้องใด ๆ จีนเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับไทยมาเป็นเวลายาวนาน เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองรัฐบาลให้ความสำคัญในทุกมิติ  วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองแล้ว และมีประเทศอีก 39 ประเทศทั่วโลกได้ให้การรับรองและนำไปฉีดให้กับประชาชน

 

การด้อยค่าวัคซีนซิโนแวคจึงไม่เพียงแต่บิดเบือนข้อเท็จจริงและคุณค่าวัคซีนซิโนแวค แต่ส่งผลกระทบต่อมิตรประเทศที่ดีและใกล้ชิดของไทย

 

5. ส่วนกรณีกล่าวอ้างว่าชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย – เมียนมาได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่และ “นักรบ” จ้างทำสงครามกับรัฐบาลเมียนมาผ่านไทย ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อจีน นายธานียืนยันว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง  ไทยให้ความสำคัญกับสันติภาพในเมียนมาเป็นลำดับแรกมาโดยตลอด ตลอดจนได้ร่วมกับอาเซียนอย่างใกล้ชิดในการสนับสนุนกระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์ของชาวเมียนมาและการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวก “นักรบ” หรือการขนส่งหรือลำเลียงอาวุธให้กับกลุ่มใดในเมียนมา

 

6. กรณีมีการพาดพิงว่าทางการไทยอนุญาตให้สหรัฐ สร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐที่เชียงใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างสูงมาก เพื่อใช้เป็นฐานติดตามความเคลื่อนไหวของจีน นายธานีย้ำข้อมูลที่ได้เคยชี้แจงมาแล้วว่า ฝ่ายสหรัฐได้ขอปรับปรุงและเริ่มก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ เนื่องจากที่ทำการเดิมมีพื้นที่คับแคบ ไม่ตอบสนองนโยบาย Under One Roof Policy ของรัฐบาลสหรัฐที่ประสงค์ให้บุคลากรทางกงสุลและหน่วยงานสหรัฐในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดอยู่ที่เดียวกัน และเพื่อรองรับการให้บริการด้านกงสุลแก่ชุมชนชาวอเมริกันและชาวต่างชาติในภาคเหนือตอนบน 15 จังหวัด

 

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่จีน สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น และสถานกงสุลอินเดียด้วย ซึ่งการจัดตั้งสถานกงสุลต่างประเทศในไทยของทุกประเทศ รวมทั้งกระบวนการก่อสร้างอาคารที่ทำการเหล่านี้ อยู่ภายใต้หลักปฏิบัติสากล กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของไทยที่เท่าเทียมกัน

 

นอกจากนี้ โฆษก กต. ยังได้ปฏิเสธว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับการสนับสนุนยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเพื่อต่อต้านรัสเซีย จีน อิหร่านและเกาหลีเหนือ 

 

“ไทยมีนโยบายที่สนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกภูมิภาคภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) มิใช่การสนับสนุนการดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์ต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ AOIP จึงเป็นมุมมองของอาเซียนเองที่มิได้ยึดโยงกับนโยบายหรือยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกอื่นใด” นายธานีกล่าว