ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.64) จะมีการเสนอมาตรการ “คลายล็อกดาวน์” ร้านอาหาร-สถานประกอบการ ให้ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่พิจารณา โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ซึ่งจะมีมาตรการที่มีทั้ง ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็กเสนอ และข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 26 สิงหาคม 64 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 27 สิงหาคม 64 กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอให้เปิด
- สถานประกอบการ
- ร้านอาหาร
- กีฬากลางแจ้ง
- การเดินทางข้ามจังหวัดที่จำเป็นในบางพื้นที่
แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด หรือ พื้นที่สีแดงเข้มไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงสูง
ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลการแถลงของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่มีดังนี้
ร้านอาหาร
- ในระบบปิด
- สามารถนั่งทานในร้านได้ประมาณ 50%
- ปิดร้านในเวลา 20.00น.
รูปแบบการแนะนำบังคับโดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบหลัก คือ
1.ระดับบุคคล
- หรือผู้ที่เข้ารับบริการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หรือ การป้องกันเชื้อโควิด19 แบบครอบจักรวาล เป็นการป้องกันตนเองระดับสูง
2.ระดับองค์กร
- จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ เรียกว่า COVID Free Program
COVID Free Program ประกอบด้วย 2 ส่วน
1.สภาพแวดล้อมของสถานประกอบการหรือร้านอาหาร(COVID Free Environment) จะต้องมี
- การเว้นระยะห่าง
- ระบบระบายอากาศ
- สุขอนามัย
- สะอาดปลอดภัย
- โดยเฉพาะสถานประกอบการระบบปิด
2. ผู้ประกอบการ/พนักงาน หรือผู้รับบริการที่จะต้องอยู่ภายในสถานประกอบการ(COVID Free personnel)
- จะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 โดส
- หากเคยติดเชื้อจะต้องหายพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้วมากกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน และมีการตรวจ ATK ในทุกสัปดาห์ แต่หากมีอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมากอาจจะต้องตรวจทุก 3 วัน รวมไปถึงการปฏิบัติร่วมกับมาตรการ DMHTA
ส่วนลูกค้าเข้ารับบริการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
- จะต้องมีการแสดงบัตรเขียว(Green Card) เพื่อแสดงว่าได้รับวัคซีนครบ 2 โดส
- หรือบัตรเหลือง( Yellow Card) แสดงตนว่าเคยติดเชื้อหายแล้วมากกว่า 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน เพื่อแสดงตนว่ามีภูมิคุ้มกัน หรือมีการตรวจ ATK ในทุกสัปดาห์ โดยมีอายุการใช้งาน 1 สัปดาห์
- กรณีที่เข้ารับบริการหากไม่มีทั้งบัตรเขียวหรือเหลือง ก็จะต้องได้รับการตรวจ ATK จากที่ตรวจเองที่บ้าน หากพบว่าผลเป็นลบ ทางผู้ประกอบการจะออกบัตรเหลืองให้เพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ
3.จะต้องมีการกำกับติดตามประเมินผลจาก สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น
แนวทางการนำ ATK มาใช้ที่ร้านอาหาร
- ร้านอาหารหรือสถานประกอบการจะนำมาให้บริการนั้นอาจจะฟรี หรือคิดค่าบริการประมาณ 30-50 บาท
- หรือลูกค้าจะซื้อมาตรวจเองก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะในอนาคตรัฐจะมีการนำเข้าก็จะสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูก
- การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวในร้านอาหาร ก็จะเกิดต้นแบบที่จะใช้เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคต