ต้องไม่พลาด รอชมปรากฎการณ์ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี คืนนี้  

20 ส.ค. 2564 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 20:20 น.
1.3 k

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนคนไทยชมปรากฎการณ์ ดาวพฤหัสบดีโคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี เห็นได้ด้วยตาเปล่า หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน ตั้งแต่เวลา 21.00 น. พลาดคืนนี้รอชมอีกทีปีหน้า  

20 สิงหาคม 2564 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) หรือ สดร. ชวนคนไทยร่วมชมปรากฎการณ์ ดาวพฤหัสบดีโคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ซึ่งจะสังเกตได้ยาวนานจนถึงรุ่งเช้า สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากฟ้าใส ไม่มีเมฆฝน 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ระบุว่า ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์​ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง นับเป็นตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 600 ล้านกิโลเมตร

เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นจะสังเกตได้ยาวนานจนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สามารถเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า และถ้าสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว และมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสังเกตเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในคืนดังกล่าวยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างถัดจากดาวพฤหัสบดีไปทางทิศตะวันตกอีกด้วย 

 

ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาในตำแหน่งใกล้โลกทุก ๆ 13 เดือน ครั้งต่อไปจะเข้ามาใกล้โลกในวันที่ 27 กันยายน 2565 

สำหรับผู้ที่สนใจชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งสามารถสังเกตการณ์อยู่ที่บ้านได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด แนะนำให้สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง

หรือติดตามรับรอชมการถ่ายทอดสดจาก LIVE ของ NARIT ซึ่งมีการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้พร้อมกันทั่วประเทศโดยรับชมถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ที่ https://www.facebook.com/NARITpage ตั้งแต่เวลา 20.00-21.00 น. พร้อมสัญญาณภาพจากหอดูดาว 4 ภูมิภาค ดังนี้

  • หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา