“มาดามเดียร์-ศิริพงษ์"ลงพื้นที่หนองจอกตรวจเชิงรุกโควิด-19 

10 ส.ค. 2564 | 17:09 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 00:23 น.

"มาดามเดียร์-ศิริพงษ์" ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกโควิด-19 เขตหนองจอก พบปัญหา ปชช.เข้าถึงระบบ Home Isolation ยากลำบาก แนะรัฐ ปรับเปลี่ยนแผน 

วันนี้ (10 ส.ค.64) ที่วัดลำพะอง เขตหนองจอก มาดามเดียร์ - วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม. เขตหนองจอก พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกโควิด-19 ให้กับประชาชนเขตหนองจอก 

 

นายศิริพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประชาชนเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องประชาชน ตนเองจึงประสานไปยังให้ สปสช.ให้ช่วยมาลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม จนถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้น 6 วันแล้ว 

              “มาดามเดียร์-ศิริพงษ์\"ลงพื้นที่หนองจอกตรวจเชิงรุกโควิด-19 

ทั้งนี้เขตหนองจอก มีทั้งหมด 8 แขวง แต่ให้บริการตรวจเชิงรุกทั้งหมด 6 จุด ซึ่งในแต่ละจุดมีประชาชนมาใช้บริการตรวจกว่า 1,000 คน โดย 6 วัน มีจำนวนประชาชนมาตรวจทั้งหมดประมาณ 7,000 คน มีผู้พบเชื้อจำนวน 1,300 คน หรือ 20% ซึ่งตนมองว่าสถานการณ์ยังคงรุนแรงอยู่ในเขตพื้นที่ชานเมืองเช่นนี้ 
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่อหากพบผู้ที่ติดเชื้อ คือ นำผู้ป่วยไป Swap อีกรอบ จากนั้นพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและจ่ายยา ซึ่งส่วนใหญ่จะพบแต่ผู้ป่วยสีเขียว ประมาณ 90% โดยสามารถทำ Home Isolation ได้ 

                          “มาดามเดียร์-ศิริพงษ์\"ลงพื้นที่หนองจอกตรวจเชิงรุกโควิด-19         

หากพบผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ทางแพทย์ชนบทจะประสานโรงพยาบาลในบริเวณใกล้ๆ เพื่อที่จะนำตัวผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่มาช่วยตรวจเชิงรุกในครั้งนี้ 

ด้านนางสาววทันยา กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าของวัคซีนโควิด-19 ว่า ตามที่เคยอภิปรายไปแล้วว่าจริงๆ แล้วทางรัฐบาลมีงบประมาณที่จะมาบริหารจัดการเรื่องของระบบสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเสียดาย คือ การที่รัฐบาลไม่นำงบประมาณมาบริหารจัดการของระบบสาธารณสุขเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของวัคซีน ซึ่งในตอนนี้ความต้องการมีมากกว่าจำนวนวัคซีน 

 

ดังนั้น ในการวางแผนการบริหารวัคซีนที่พลาดพลั้งไป รัฐบาลควรมีแผนสำรอง ส่วนตัวนั้นเข้าใจว่าหน่วยงานทุกภาคส่วนกำลังพยายามเร่งหาวัคซีนให้ได้ตามความต้องการของประชาชน แต่การที่จะจัดซื้อวัคซีนในห้วงเวลาที่ช้ากว่าประเทศอื่นถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง และสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลควรจะทำให้ประชาชน คือ การทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง 

             “มาดามเดียร์-ศิริพงษ์\"ลงพื้นที่หนองจอกตรวจเชิงรุกโควิด-19      “มาดามเดียร์-ศิริพงษ์\"ลงพื้นที่หนองจอกตรวจเชิงรุกโควิด-19 

ทั้งนี้อีกหนึ่งปัญหา คือ การที่ประชาชนจะเข้าถึงการรักษาระบบสาธารณสุขได้คือต้องผ่านการตรวจแบบ RT-PCR เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยากมาก หากไปเข้าตามสิทธิขั้นตอนของรัฐบาลนั้น ก็เข้าถึงยาก แต่หากประชาชนจะไปตรวจเองที่รพ.เอกชน ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก 


ส่วนการตรวจแบบ Antigen test ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมานั้น คือ การเข้าถึงเตียงก็จะลำบาก เนื่องจากต้องใช้ผลการตรวจแบบ RT-PCR อยู่ดี 
                         

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ยินดีที่จะกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือการทำ Home Isolation แต่ตนก็คิดว่ายังยากลำบากในการเข้าระบบดังกล่าวอยู่ดี 

 

“การลงพื้นที่ในวันนี้มีข้อดีอยู่หนึ่งอย่างก็คือ มีหน่วยงานของสปสช.และทีมแพทย์ชนบท ที่เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจเชิงรุกในครั้งนี้ ทั้งนี้เมื่อเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแล และจะได้พบแพทย์ในการเข้าระบบ Home Isolation ทันที เพื่อจะได้รับยามาทานที่บ้าน และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง”

 

นางสาววทันยา กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้วอยากจะเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ต้องทำการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยคัดแยกผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสียงสูงออกจากครอบครัวให้ได้ 

 

รวมถึงอยากให้แพทย์ชนบทและแพทย์ที่กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลังกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตนเชื่อว่าการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุก และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุด จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขได้สำเร็จ 

 

ส่วนการที่รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้น ที่ตนเห็นชัดเจน โดยพูดง่ายๆ ว่า เวลาออกไปข้างนอกบ้านจะพบว่ามีคนใช้รถสัญจรจำนวนมาก แม้ศบค.จะมีคำสั่งล็อกดาวน์เข้มงวดกว่าเดิม แต่ประชาชนก็ยังพลุกพล่านต่างจากบรรยากาศการล็อกดาวน์เมื่อช่วงเมษายนปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าแทบจะไม่เห็นรถสัญจรบนท้องถนนเลย

                             

ขณะที่ในตอนนี้อาจด้วยสภาพเศรษฐกิจหลังการระบาดระลอกที่ 4 และการเยียวที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะร้านอาหาร และ SME ซึ่งในภาพรวมถือว่าไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่ได้รับ ทำให้ประชาชนหลายคนต้องออกมาดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ 
ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมและสัมพันธ์กับสถานการณ์เวลานี้ 

 

ทั้งนี้ เมื่อดูจากตัวเลขผู้ป่วยที่ผ่านมา ที่เรียกว่าทำสถิติใหม่ทุกวัน และจากที่กระทรวงสาธารณะสุขคาดการณ์ไว้ว่า ตัวเลขจะแตะจุดสูงสุดในช่วงเดือนกันยายน ตลอดจนสถานการณ์ที่ประชาชนไม่อาจล็อกดาวน์ตัวเองอยู่กับบ้านได้อย่างจริงจัง มองว่า สถานการณ์โดยรวมยังคงน่าเป็นห่วง อีกทั้งการตรวจคัดกรองเชิงรุกและการบริหารจัดการวิกฤติยังเป็นไปอย่างยากลำบาก หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ก็ไม่อาจคลี่คลายไปในทางดีขึ้นได้แม้แต่น้อย