รู้ไว้ก่อน โควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่าโควิดสายพันธุ์เดลตาขนาดไหน

05 ส.ค. 2564 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2564 | 19:41 น.
5.3 k

ประเทศไทยยังไม่พบโควิดสายพันธุ์เเลบ์ดา เเต่ “นักวิจัยญี่ปุ่นพบว่าแลมบ์ดานั้น อันตรายยิ่งกว่าโควิดสายพันธุ์เดลตา แพร่เร็ว ต้านภูมิคุ้มกันได้

แม้ในประเทศไทยยังไม่พบการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา ตามการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการว่า แนวโน้มในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 30 กรกฎาคม 2564 โดยการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,547 ราย พบว่าขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบ 74 จังหวัด ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบมากที่สุดที่จังหวัดยะลา 14 ราย จังหวัดสงขลาและตรังจังหวัดละ 1 ราย

สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด และยังเป็นเพียงสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest) ตามการแบ่งระดับขององค์การอนามัยโลก (WHO)  แทนการเป็น “เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าวิตก”

สายพันธุ์แลมบ์ดายเป็นที่จับตา วานนี้ เฟซบุ๊คศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โควิด ในทวีปเอเชียหนึ่งในนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจนั่นคือ การที่  “นักวิจัยญี่ปุ่นพบโควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา" อันตรายยิ่ง กว่า "เดลตา" แพร่เร็ว ต้านภูมิคุ้มกันได้”

โดยทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นเผยแพร่ผลศึกษาวิจัย ระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์แลมบ์ดา ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเปรู และระบาดในหลายประเทศในอเมริกาใต้

นอกจากจะแพร่ได้สูงมากแล้ว ยังมีความสามารถในการต้านทานภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนได้มากกว่าเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม

ขณะที่ รอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมว่า ทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นเผยแพร่ผลศึกษาวิจัยในเว็บไซต์เผยแพร่ผลงานวิชาการก่อนการทบทวน “ไบโออาร์ซิฟ” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์แลมบ์ด้า ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเปรู และระบาดในหลายประเทศในอเมริกาใต้ นอกจากจะแพร่ได้สูงมากแล้ว ยังมีความสามารถในการต้านทานภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนได้มากกว่า เชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนอีกด้วย

เคอิ ซาโตะ นักวิจัยอาวุโสประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว ใช้วิธีการวิเคราะห์ในระดับโมเลกุลเพื่อจำแนกและประเมินความสัมพันธุ์ทางพันธุกรรม ( molecular phylogenetic analysis) ของไวรัสกลายพันธุ์นี้ พบการกลายพันธุ์สำคัญ 3 จุดที่เกิดขึ้นบริเวณ ตุ่มโปรตีน หรือ สไปค์ โปรตีนของแลมบ์ด้า คือ RSYLTPGD246-253N, 260 L452Q และ F490S ซึ่งช่วยให้แลมบ์ด้า มีความสามารถในการต่อต้านภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีน โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ RSYLTPGD246-253N ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์แบบสอดแทรกเข้ามาเพิ่มซึ่งเกิดขึ้นในส่วนของปลาย เอ็น ของสายพันธุกรรม (the N-terminal domain-NTD) มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้ไวรัสกลายพันธุ์นี้สามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้

โควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดาอาการเป็นอย่างไร

มีการคาดการณ์ว่าอาการของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลตา และสังเกตอาการยากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์เฝ้าระวังว่าจะสามารถแพร่เชื้อในอนาคต (Variant of Interest) หรือ VOI  และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะถูกเพิ่มเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) หรือ VOC เช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลต้า

ความรุนแรงเมื่อติดเชื้อมากกว่าสายพันธุ์ปกติ

มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ

สามารถเลี่ยงประสิทธิภาพวัคซีน หรือส่งผลต่อระบบสาธารณสุขให้ด้อยลงจากเดิม

วัคซีนชนิดใดสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดาได้บ้าง

 มีการเผยแพร่การวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกาว่าจริงอยู่ที่โควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้ แต่ในการทดสอบกับวัคซีนชนิด mRNA (วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา) พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากพอในการช่วยป้องกันโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา สำหรับวัคซีนชนิดอื่นยังไม่มีผลการวิจัยออกมาเผยแพร่แต่อย่างใด