สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯชง 8 แนวทางแก้ปัญหาโควิด

03 ส.ค. 2564 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 23:13 น.

นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เผยระบบการแพทย์ฉุกเฉินและบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต จี้"นายกฯ"เร่งแก้ปัญหาโควิด พร้อมเสนอ 8 แนวทางลดการระบาด-เสียชีวิต

ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์  หัตถีรัตน์  นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 (COVID-19) ทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินและบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมาก ทั้งที่ป่วยด้วย COVID-19 และไม่ได้ป่วยด้วย COVID-19 ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันการ และสมบูรณ์ รวมทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินจำนวนไม่น้อย ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตภาพจากการดูแลผู้ป่วยCOVID-19 ที่เหลือก็กำลังเหนื่อยล้า จากการปฏิบัติงานหนักมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

 

นพ.สันต์  หัตถีรัตน์  นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ จึงมีข้อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรี ที่ได้รวบอำนาจการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ มากกว่า 30 ฉบับ ไว้ที่ตนเอง ได้เร่งดำเนินการดังนี้

 

1.  ทำให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ และระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน ให้เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างจริงจัง ในปัจจุบัน การประสานงานต่างๆ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการลดการระบาด และการเสียชีวิตจาก COVID-19
 

2. หยุดการให้ข่าวและการสร้างข่าวที่ทำให้เกิดความสับสนจนประชาชนไม่เกิดความเชื่อมั่นในตัว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานต่างๆ และดำเนินการลงโทษผู้ที่สร้างและแพร่ข่าวเท็จอย่างจริงจัง

 

3. เร่งการตรวจเชิงรุกเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ และชุมชนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น  ชุมชนแออัด โรงงาน แคมป์คนงานก่อสร้าง  โดยเป็นการแยกกักอย่างจริงจังและเข้มงวด ซึ่งในปัจจุบันยังมีการปล่อยปละละเลยกันอยู่

 

4. นำทรัพยากรอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการแพทย์ และสาธารณสุข (ทั้งบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์) มาช่วยในการตรวจเชิงรุก การแยกผู้ติดเชื้อ การช่วยเหลือดูแลการแบกกักที่บ้าน (Home Isolation) และในชุมชน (Community Isolation) เพื่อบรรเทาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

 

5. เพิ่มและกระจายศูนย์ตรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนไปยังพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดการแพร่เชื้อจากความแออัด และการเดินทางของประชาชนไปยังศูนย์ฯ ที่มีอยู่น้อยในปัจจุบัน

6. สนับสนุน และช่วยเหลือให้ประชาชนผู้ติดเชื้อมีความมั่นใจว่าตนจะได้รับการดูแลตามสมควร ไม่ว่าจะแยกกักตัวอยู่ในบ้าน ในชุมชน ในวัด ในโรงเรียน ในค่ายทหาร และอื่นๆ 

 

7. สนับสนุนและช่วยเหลือให้ประชาชนผู้ไม่ติดเชื้อสามารถดูแลตนเอง ไม่ให้ติดเชื่อ และในกรณีจำเป็น เช่น อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงมาก ได้ย้ายออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย

 

8.สนับสนุนและช่วยเหลือให้ประชาชนผู้หายจากการติดเชื้อแล้ว และประชาชนผู้สามารถดูแลตนเอง ไม่ให้ติดเชื้อเข้ามาดูแล ผู้ที่แยกกักตัวอยู่ในบ้าน และในชุมชนเพื่อบรรเทาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข เป็นต้น