MI ชี้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาน่าห่วง ตัวเลขติดลบหนักสุดในรอบ 20 ปี

21 ก.ค. 2564 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2564 | 23:04 น.

MI Group ปรับลดประเมินเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อ-โฆษณา คาดติดลบ 20-25% ผลพวงจากโควิดลากยาวและการสื่อสารที่ล้มเหลวของภาครัฐ ที่ทำให้เกิดความสับสน ไม่ชัดเจน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เผย เนื่องด้วยการสื่อสารของภาครัฐในการรับมือสถานการณ์โควิด มีความสับสน ไม่ชัดเจน ขาดการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อข้อมูลที่ภาครัฐพยายามสื่อสาร และเกิดความสูญเสียในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารเรื่องการกระจายวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน, การสื่อสารเรื่องมาตรการต่างๆที่บังคับใช้เพื่อควบคุมการระบาดหนัก ควบคู่แผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, การสื่อสารเรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณะสุขของประชาชน อาทิ การตรวจคัดกรอง การรักษาผู้ติดเชื้อในระดับต่างๆ เหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

เดิมทีทาง MI Group เคยประเมินไว้ช่วงต้นปีก่อนระลอก 3 ว่าปีนี้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณามีโอกาสฟื้นตัวดีและบวกได้เกือบ 10% ซึ่งจะส่งผลดีต่อคนในวงกว้างของระบบนิเวศนี้ แต่จากผลการปรับประเมินล่าสุดจากปัจจัยและสถานการณ์ พบว่า เม็ดเงินอุตสาหกรรมในปีนี้ (ทั้งปี) อาจติดลบลงไปอีก 3-5% เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว ถือว่าเป็นปีที่ตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี

ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อ มาตรการต่างๆที่ยกระดับและยาวนานขึ้น ความบอบช้ำและสาหัสของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs รวมถึงประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่าย กำลังซื้อหดตัว และวิกฤตความสามารถในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มฐานราก

 

นอกจากนี้ MI ได้เปิดเผยตัวเลขอุตสาหกรรมจากวิกฤตโควิดระลอกที่ 1 ติดลบเกือบ 20% มูลค่าเม็ดเงินหดตัวเหลือ 75,000 ล้านบาท และในช่วงปลายไตรมาส 4 ปีที่แล้วจนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ สัญญาณการฟื้นตัวเริ่มมีให้เห็นบ้างในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณานี้

อีกทั้งทาง MI Group ได้มีการปรับคำนวณตัวเลขสื่อที่ยังมีอัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปี 3 อันดับแรก ได้แก่ สื่อทีวี มูลค่า 18,900 ล้านบาท เติบโต 10% สื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 11,400 ล้านบาท เติบโต 20% และสื่อโรงหนัง มูลค่า 531ล้านบาท เติบโต 6% เนื่องจากยังคงมีการเปิดให้บริการโรงหนังในบางจังหวัด

 

ในส่วนของหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงมีการใช้จ่ายอย่างคึกคึก 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาสีฟันเทพไทย มูลค่า 1,445 ล้านบาท เติบโต 54% โค้กหรือโคคา-โคล่า มูลค่า 1,176 ล้านบาท เติบโต 109%  และถั่งเช่ายิ่งยง ซึ่งในปีนี้มี มูลค่าลดลง 3%  เหลือเพียง 1,023 ล้านบาทก็ตาม แต่ในกลุ่มวิตามินถั่งเช่ายิ่งยงยังคงเป็น top spenders top 3

ทั้งนี้ในแง่ advertiser ตลาดกาล 3 อันดับแรก ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 2,734 ล้านบาท เติบโต 57% เนสท์เล่ ธุรกิจทางด้านโภชนาการและสุขภาพ มูลค่า 1,538 ล้านบาท เติบโต 49% และ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือ P&G ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 1,183 ล้านบาท เติบโต 26%

สำหรับในแง่ของแบรนด์ที่มีอัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปี 3 อันดับแรก ได้แก่ โค้กหรือโคคา-โคล่า มูลค่า 654 ล้านบาท เติบโต 131%  ยาสีฟันเทพไทย มูลค่า 493 ล้านบาท เติบโต 85% และ ลาซาด้า มูลค่า 493 ล้านบาท เติบโต 219%