วันที่ 19 ก.ค. 64 รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จะมีการเสนอ มาตรการเยียวยาโควิด รอบล่าสุด ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเฉะเชิงเทรา
หลังจากทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว ถูกปรับโซนสีโควิดล่าสุด ให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งจะมีทั้งมาตรการเคอร์ฟิว และล็อกดาวน์ มีผลบังคับใช้วันที่ 20 ก.ค. 64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
โดยมาตรการเยียวยาประกันสังคม ของทั้ง อยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จะเป็นชุดมาตรการเดียวกันกับที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อ 13 ก.ค. 64 ในการเยียวยาให้กับ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ นราธิวาสปัตตานี ยะลา และสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ก่อนที่จะมีการปรับโซนสีล่าสุด
ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า กระทรวงแรงงาน จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) คือ เพิ่มพื้นที่ ในจังหวัดอยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ให้ครม.พิจารณา โดยมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 1 เดือน ดังนี้
ประเภทกิจการที่จะให้ความช่วยเหลือ
มี 9 สาขา ได้แก่
- กิจการก่อสร้าง
- กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
- กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
- กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ
- สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่ง และการขายปลีก
- การซ่อมยานยนต์
- สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
- สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ
- สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
1. กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม ดังนี้
กลุ่มแรงงานตามมาตรา 33
- จะได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโควิด19 ในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน
- จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม
ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ม.33
- จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40
- สัญชาติไทย
- ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน
- จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40
- สัญชาติไทย
- ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน ให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564
- เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท ต่อคน จำนวน 1 เดือน
กลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้าง
มีลูกจ้างแต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
ให้ดำเนินการ ดังนี้
- กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน
- และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน
- ทั้งนี้ ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวจะยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม
ไม่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
- ให้เตรียมหลักฐานสำหรับการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564
- เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”
- ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบัน
- ใน 5 กลุ่ม ร้านค้า ประกอบด้วย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการ และกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ให้ดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40
- เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ที่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
- ให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม
- พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาทได้