นพ.พงศกร เปิด 10 มุมมอง วัคซีนโควิดเข็ม 3 จำเป็นแค่ไหน และยี่ห้อไหนดีสุด ?

18 ก.ค. 2564 | 13:43 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2564 | 21:19 น.
5.9 k

นพ.พงศกร เปิด 10 มุมมอง ความจำเป็นฉบับย่อ กระตุ้นภูมิป้องกันโควิด19 ด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 ระบุ วันนี้ mRNA vaccine รับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี ขณะจับตาวิธีผลิตใหม่ Novavax ยกเป็นวัคซีนตัวหลักในอนาคต รวมถึง วัคซีนรุ่นที่ 2 ของทุกยี่ห้อ

นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ Pongsakorn Chindawatana กล่าวถึง ปัญหาวิกฤติไวรัสโควิด19 ในประเทศไทย ที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ติดเชื้อทะลุ 1 หมื่นรายต่อวัน จากการกลายพันธุ์ของไวรัส สายพันธุ์เดลตา ขณะกระทรวงสาธารณสุข ประกาศ ความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน ให้ต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้  โดยมีมติให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นการบูสเตอร์ โดส  กระตุ้นภูมิให้แก่บุคลากรการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด หลังจากรับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วเป็นจำนวนมาก โดยอาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ชนิด mRNA

 

โดย นพ.พงศกร ระบุให้ความเห็นในกรณีดังกล่าว ในหัวข้อ ' วัคซีนเข็มที่ 3 นี่มันยังไงกันนะ มาครับ ผมจะเล่าให้ฟัง' โดยมีใจความดังนี้ ...

วัคซีนเข็มที่สาม นี่มันยังไงกันนะ
มาครับ
ผมจะเล่าให้ฟัง

 

๑. เรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการฉีดวัคซีนแบบเชื้อตาย จนครบโดสไปแล้วสองเข็มกลับพบว่าไม่สามารถป้องกันเชื้อที่กลายพันธุ์ได้หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อหลายคน เมื่อตรวจภูมิคุ้มกันก็พบว่าระดับของภูมิคุ้มกันลดลงอย่างรวดเร็ว

 

๒. เลยเป็นที่มาว่าควรฉีดวัคซีนกระตุ้นดีหรือไม่ ถ้าฉีด ควรฉีดอะไรคำตอบก็ออกมาว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามน่าจะช่วยได้ แต่มีข้อแนะนำว่าควรฉีดวัคซีนที่ผลิตกันคนละวิธี  จากการวิจัยเล็กๆของอาจารย์แพทย์หลายท่าน พบว่าเมื่อฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่สาม ภูมิคุ้มกันจะอยู่ในระดับที่สูงและป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีขึ้น 

 

๓. หลักการของวัคซีนเข็มที่สามนี้มีการวิเคราะห์โดยอิงจากหลักวิชาการและมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ตัดสินใจใช้วิธีนี้กับบุคลากร จึงยังเป็นอะไรที่ใหม่มากเกินกว่าจะให้คำตอบว่า มันเพียงพอแล้วจริงๆหรือไม่ ต้องมีเข็มสี่อีกหรือเปล่า อันนี้ต้องดูกันต่อยาวๆและฟังข้อมูลอย่างมีสติพิจารณาว่าข้อมูลไหนเขื่อได้ ข้อมูลไหน fake นะครับ

 

๔. สำหรับประเทศไทย ส่วนมากแล้วบุคลากรทางการแพทย์เกือบทั้งหมด ฉีดซิโนแว็กซ์ไปครบสองเข็มตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก - ไตรมาสที่สองของปี

ดังนั้นเข็มที่สามของบุคลากรจึงมีวัคซีนให้เลือกใช้สองชนิด  คือ AZ (Virus vector) หรือ Pfizer (mRNA)

สำหรับ AZ เรามีวัคซีนอยู่แล้วบุคลากรที่เลือกเข็มสามเป็นตัวนี้ จึงสามารถฉีดได้เลย ขณะนี้ก็มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรหลายท่าน ได้ฉีดเข็มที่สามไปเรียบร้อยแล้ว

Pfizer นั้น ในวันนี้ก็ยังมาไม่ถึง และยังกำหนดวันแน่นอนไม่ได้ว่าจะมาเมื่อไร 

เดิมที Pfizer 1.5 ล้านโดสนี้ มีแผนจะฉีดให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง แต่เมื่อสถานการณ์ในประเทศกำลังเข้าขั้นวิกฤติ ศบค. จึงมีการแบ่งโควต้าบางส่วนมาให้บุคลากรด่านหน้า    ซึ่งเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดและต้องดูแลคนไข้ที่ติดเชื้อ 

 

๕. ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าซิโนแว็กซ์ไม่ดีนะครับ วิจัยทางการแพทย์เกือบทุกแห่งพูดตรงกันว่า สามารถลดความรุนแรงของการติดเชื้อลงและลดอัตราตายได้อย่างชัดเจน

แต่การที่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นเพราะวันนี้ไวรัสได้กลายพันธุ์ไปไกลแล้ว

ซิโนแว็กซ์ที่ใช้ฉีดกันในวันนี้ ผลิตมาจากไวรัสรุ่นเก่า ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด
ถ้าวันนี้ไวรัสไม่กลายพันธุ์ ยังเป็นไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม หน้าตาเดิมๆ ซิโนแว็กซ์ก็ยังมีประสิทธิภาพที่ดีครับ 
 

๖. การที่ mRNA vaccine เช่น Pfizers และ Moderna ยังรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี เป็นเพราะมีการนำเอาไส้ในของไวรัส หรือสารพันธุกรรมมาทำวัคซีน จึงยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้จดจำเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีกว่าวิธีอื่น
แต่ถ้าไวรัสยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆแบบนี้ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคต ก็อาจจะป้องกันไม่ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีนี้ยังใหม่มากๆจริงๆ เราก็ต้องติดตามดูผลข้างเคียงในระยะยาวกันต่อไปด้วยครับ 

 

๗. คำตอบที่แท้จริง จึงอยู่ที่วัคซีนรุ่นที่สองของทุกยี่ห้อ ทุก Platform   ที่มีการนำเอาไวรัสกลายพันธุ์มาผลิตเป็นวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ กระบวนการนี้ทำได้ไม่เร็วครับ  แต่น่าจะรับมือเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ดีขึ้น  เป็นเรื่องที่เราก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป   เช่นกัน

 

๘. สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้วัคซีนอีกหนึ่ง Platform กลายมาเป็นวัคซีนที่ทุกคนต้องจับตามองนั่นก็คือ Novavax 

Novavax ผลิตด้วยวิธีที่สี่ เรียกกันว่า Protient subunit คือดึงเอาโปรตีนจากไวรัสมาทำวัคซีนซึ่งโปรตีนนี้เป็นสารพื้นฐานที่ไวรัสดั้งเดิม หรือไวรัสที่กลายพันธุ์ไปแล้ว ต่างก็มีเหมือนๆกัน    จากการทดลองในอาสาสมัครพบว่ารับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ดีแถมยังมีผลข้างเคียงน้อยมาก

แม้ว่าในอนาคต ไวรัสอาจจะกลายพันธุ์ไปอีก การปรับเปลี่ยนสูตรโปรตีนในวัคซีนก็จะทำได้รวดเร็วและรับมือกับการกลายพันธุ์ได้ดี  ดังนั้น นี่จึงเป็นวัคซีนที่อาจจะกลายมาเป็นวัคซีนตัวหลักในอนาคตครับ 

 

๙. แล้ววันนี้ล่ะ สำหรับประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มไปแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง ควรจะต้องลงทะเบียนรับวัคซีนเข็มที่สามหรือไม่  จากข้อมูลล่าสุดของศบค. บอกมาว่าเข็มที่สามสำหรับประชาชน ยังไม่เปิดลงทะเบียน เนื่องจาก อยากให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว มีโอกาสได้รับวัคซีนก่อนครับ

อย่างไรก็ตามขอให้ติดตามข้อมูลกันต่อไปนะครับ เพราะเรื่องวัคซีนเป็นอะไรที่ใหม่มากจริงๆ และข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน

วันนี้บอกว่า ประชาชนยังไม่ต้องลงทะเบียนเข็มที่สามแต่อีกสักหน่อยอาจจะมีประกาศให้ลงทะเบียนก็เป็นได้  ยังไงผมจะคอย update ข้อมูลให้ทราบกันเป็นระยะครับ

 

๑๐. และสรุปสุดท้ายครับ แม้ว่าในอนาคตเราจะมีโอกาสได้รับวัคซีนเข็มที่สามแล้วก็ตาม แต่วัตถุประสงค์ของวัคซีนทุกชนิด ก็คือ ลดความรุนแรงหากบังเอิญติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิตวัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ ๑๐๐ %เราจึงควรป้องกันตัวเองให้เต็มที่ต่อไปครับ