เร่งสปส.-สภาพัฒน์วางเกณฑ์เยียวยาแรงงาน"ตอบโจทย์ธุรกิจ"

16 ก.ค. 2564 | 11:07 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 18:25 น.

รัฐมนตรีแรงงานขานรับนโยบายนายกฯ ย้ำมาตรการช่วยเหลือแรงงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคม โดยฟังเสียงสะท้อนเอกชน เร่งสปส.หารือสภาพัฒน์วางหลักเกณฑ์ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ พร้อมเสนอครม.สัปดาห์หน้า

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 ได้ออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ และมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด -19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 1 เดือน โดยประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ จากเดิม 4 สาขา เพิ่มเติมเป็น 9 สาขานั้น 
    

ในเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยภาคแรงงาน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงได้สั่งการให้ผมรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและภาคเอกชน เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการโดยเร็ว 

เร่งสปส.-สภาพัฒน์วางเกณฑ์เยียวยาแรงงาน\"ตอบโจทย์ธุรกิจ\"

    ทั้งนี้ ผมได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.)เร่งประชุมหารือ กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ความชัดเจ นกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้าให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการต่อไปได้ 
    

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า โดยภาพรวมเห็นด้วยกับรูปแบบมาตรการช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด

 

เป็นการจ่ายเงินเติมเพิ่มให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ทั้งในและนอกระบบประกันสังคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท แม้ยังไม่กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจน แต่การช่วยเหลือในภาพรวมรอบนี้ถือว่าดี เพราะเป็นการช่วยเหลือทั้งลูกจ้างและนายจ้างในระบบและนอกระบบ 
    

ด้านนายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสมาพันธ์มีสมาชิกกว่า 2,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้รายได้ลดลง ดีใจมากที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือเยียวยา เห็นความสำคัญของพี่น้องแรงงาน โดยเฉพาะคนขับแท็กซี่ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ

 

เงินเยียวยาส่วนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ สิ่งที่อยากให้ช่วยเหลือตอนนี้ ทำอย่างไรให้คนขับแท็กซี่มีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่อายุประมาณ 65 ปี จึงต้องการหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้การเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐในด้านสวัสดิการต่าง ๆ 
    

ส่วน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ช่วงโควิดระบาดทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่มีรายได้ แต่กระทรวงแรงงานทำให้ภาคธุรกิจมีกำลังใจขึ้น มีรายได้ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลูกจ้างนายจ้างกลับมามีความสุข เห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างร่วมไม้ร่วมมือกันสนับสนุนความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน ในช่วงสถานการณ์โควิดเช่นนี้ โดยเฉพาะกรณีการปิดแคมป์คนงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้คนงานได้มีอาหารดี ๆ รับประทาน

 

เราก็ได้เห็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงนี้ จึงต้องขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ช่วยเป็นกำลังใจให้ข้าราชการ และคนทำงานทุก ๆ คนที่ออกมาช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน