ข่าวดี ! ออสเตรเลียตัดต่อยีนส์โคโรนาสำเร็จพร้อมพัฒนาเป็นยารักษาโควิด-19

16 ก.ค. 2564 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 21:06 น.
2.7 k

หมอเฉลิมชัยเปิดข้อมูลข่าวดี ออสเตรเลียสามารถตัดต่อยีนส์ไวรัสโคโรนาสำเร็จ ทำให้หยุดการแพร่พันธุ์ และจะพัฒนาเป็นยารักษาโควิด-19 ได้ คู่นานไปกับวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรค

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดี ออสเตรเลียสามารถตัดต่อยีนส์ไวรัสโคโรนาสำเร็จ ทำให้ไวรัสหยุดการแพร่พันธุ์ และน่าจะพัฒนาเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ได้
Dr.Sharon Lewin นักวิทยาศาสตร์ของสถาบัน Peter Doherty แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ได้ออกมาแถลงข่าวความสำเร็จ ของการใช้เทคโนโลยีคริสเปอร์ (CRISPR) ในการตัดต่ออาร์เอ็นเอ(RNA) ของไวรัสโคโรนาก่อโรค โควิด-19 ได้สำเร็จ และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature Communication
โดย CRISPR ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Cluster of Regularly Interspace Short Palindromic Repeats เป็นเทคโนโลยีทันสมัย ที่มีไว้เพื่อจัดการตัดต่อ หรือปรับปรุงจีโนม(Genomes) และทำให้การทำงานของยีนส์เปลี่ยนแปลงไป อาจใช้คำว่า Gene-editing Technology ก็ได้ ซึ่งผลของมันจะทำให้เกิดการบล็อคไม่ให้ไวรัสขยายตัวหรือเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกายหรือเซลล์ของมนุษย์
ขณะนี้เป็นผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยที่ยังไม่ได้ทดลองในสัตว์และในคน คาดว่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร ก่อนจะได้ทดลองในคน เพื่อสังเคราะห์เป็นยาใช้รักษาโรคต่อไป

หมอเฉลิมชัย ระบุต่อไปว่า เอนไซม์สำคัญ Cas-13b ในเทคโนโลยี CRISPR มนุษย์ศึกษามาจากระบบการป้องกันตัวของแบคทีเรีย ซึ่งใช้เอนไซม์ลักษณะเดียวกันนี้ไปตัดยีนส์ของไวรัส ซึ่งเป็นผู้บุกรุกเข้ามา และจัดการได้สำเร็จ

ออสเตรเลียตัดต่อยีนส์โคโรนาสำเร็จ

โดยเอนไซม์ Cas-9 จะใช้จัดการยีนส์ประเภทสายคู่หรือดีเอ็นเอ (DNA) ส่วนเอนไซม์ Cas-13b ใช้ในการจัดการยีนส์สายเดี่ยว หรืออาร์เอ็นเอ(RNA)ในกรณีของโควิด-19 ซึ่งจะเป็นความหวังในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคโควิด-19 เพราะในขณะนี้ยังไม่มียาตัวใดในโลกที่สามารถรักษาโควิด-19 ได้โดยตรง อยู่ในระหว่างวิจัยพัฒนาทั้งสิ้น เช่น ยา Molnupiravir
โดยจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ คู่ขนานไปกับวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรค ถ้าโลกมนุษย์เรา มีวัคซีนที่ช่วยลดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง และควบคุมจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้
ในขณะเดียวกัน เราก็มียารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง ลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตลงได้ ก็จะทำให้มนุษยชาติ มีความวิตกกังวลหรือความกลัวต่อโควิดลดน้อยลงมาก จนอยู่ในระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่  ซึ่งก็ยังคงมีการระบาดประปรายเป็นโรคประจำถิ่น และมียารักษาได้

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9692 ราย
สะสมระลอกที่สาม 353,044 ราย
สะสมทั้งหมด 381,907 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 5730 ราย
สะสม 244,431 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 67 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3005 ราย
สะสมทั้งหมด 3099 ราย