"ประพิศ” สั่งสำรวจความมั่นคงของเขื่อนทั่วประเทศรอรับฝนใหม่

14 ก.ค. 2564 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 17:41 น.

“ประพิศ” สั่งสำรวจความมั่นคงของเขื่อนทั่วประเทศรอรับฝนใหม่ เผยน้ำใช้การได้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีหรือมีน้ำปริมาณ 51-80% ของความจุ เหลือพื้นที่รับน้ำใหม่ 42,263 ล้าน ลบ.ม.

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากอย่างเคร่งครัด โดยกรมชลประทาน ได้เร่งสำรวจความพร้อมของเขื่อน พบว่า เขื่อนขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ 35 แห่ง ข้อมูล ณ 4 ก.ค.2564 สามารถรับน้ำได้อีก 42,263 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 56% ของความจุ โดยปี 2564 มีปริมาณน้ำใช้การได้สูงกว่าปี 2563 ประมาณ 5% หรือสูงกว่าประมาณ 1,725 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 9,875 ล้าน ลบ.ม.หรือสัดส่วน 19% ของความจุ ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีน้ำใช้การได้ 84,091 ล้าน ลบ.ม. หรือสัดส่วน 18% ของความจุ  
 

สำหรับปริมาณน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีความจุ 70,926 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำรวมกันทั่วประเทศประมาณ 31,424 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 44% ของความจุ และเป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,882 ล้าน ลบ.ม.หรือ 17% ของความจุ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีปริมาณน้ำมีในอ่างใหญ่ทั่วประเทศประมาณ 15,201 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 43% ของความจุ และเป็นน้ำใช้การได้ 7,239 ล้าน ลบ.ม.หรือ 15% ของความจุ

ประพิศ จันทร์มา

ส่วนเขื่อนขนาดกลาง มีปริมาณน้ำกว่า 23,801 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 46% ของความจุ ที่มีประมาณ 5,141 ล้านลบ.ม. และเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,993 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 13% ของความจุ
 

“กรมชลฯ พร้อมบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานน้ำที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ตลอดจนทำการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทาน และเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้พร้อมในจุดเสี่ยงต่างๆ และยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด อีกทั้งเร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน รวมถึงวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับประชาชน เพราะในบางพื้นที่ยังมีน้ำน้อย เกษตรกรจึงยังต้องใช้น้ำกันอย่างประณีต”

นายประพิศ กล่าวว่า ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนขนาดใหญ่ 35 เขื่อนทั่วประเทศ ไม่มีเขื่อนไหนในประเทศไทยที่มีน้ำเกิน 81% ของความจุ โดยเขื่อนที่น้ำไม่เกิน 30% ของความจุ หรือมีปริมาณน้ำน้อย มีจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวง มีปริมาณน้ำ 21% ของความจุ, เขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำ 29% ของความจุ, เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 30% ของความจุ, เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 21% ของความจุ, เขื่อนทับเสลา มีปริมาณน้ำ 14 % ของความจุ, เขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำ 30% ของความจุ, เขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำ 30% ของความจุ, เขื่อนกระเสียว มีปริมาณน้ำ 29% ของความจุ, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 8% ของความจุ, เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำ 17% ของความจุ และเขื่อนสียัด มีปริมาณน้ำ 12% ของความจุ  

สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 30-50% ของความจุ ถือว่ามีน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ มีจำนวน 11 แห่ง ได้แก่เขื่อนแม่งัด มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ, เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ, เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำ 41% ของความจุ, เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ, เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 35% ของความจุ, เขื่อนนฤบดินทรจินดา มีปริมาณน้ำ 31% ของความจุ, เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำ 40% ของความจุ, เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 31% ของความจุ, เขื่อนบางพระ มีปริมาณน้ำ 37% ของความจุ, เขื่อนปราณบุรี มีปริมาณน้ำ 41% ของความจุ, เขื่อนแม่มอก มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ

 

ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีหรือมีน้ำปริมาณ 51-80% ของความจุ มีทั้งหมด 13 แห่ง ได้แก่เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำ 51% ของความจุ, เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ, เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ, เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 64% ของความจุ, เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ 54% ของความจุ, เขื่อนปากมูลบน มีปริมาณน้ำ 67% ของความจุ, เขื่อนลำแซะ มีปริมาณน้ำ 54% ของความจุ, เขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำ 65% ของความจุ, เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำ 60% ของความจุ, เขื่อนหนองปลาไหล มีปริมาณน้ำ 76% ของความจุ, เขื่อนประแสร์ มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ, เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำ 57% ของความจุ และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ