รีเช็ค “เคอร์ฟิว” 10 จังหวัดสีแดงเข้ม เริ่มกี่โมง อะไรปิดบ้าง ใครเดินทางได้

12 ก.ค. 2564 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 22:23 น.
55.2 k

ตรวจสอบกันอีกครั้งสำหรับมาตรการ “เคอร์ฟิว” 10 จังหวัดสีแดงเข้มที่เริ่มวันนี้เป็นวันเเรก หลายคนสงสัยจะเริ่มกี่โมง เเละมีกิจกรรม กิจการไหนบ้างที่ปิด เเละใครเดินทางได้

เริ่มวันนี้ (12 ก.ค.64) เป็นวันแรกสำหรับของการบังคับใช้มาตรการ “เคอร์ฟิว” และ “ล็อกดาวน์” ภายหลังจากข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27 ) ในข้อ 2 การห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามข้อ 4 ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพ ฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา

โดยห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 หรือ 2 สัปดาห์

พื้นที่ กทม. และปริมณฑล 6 จังหวัด มีมาตรการ ดังนี้

- WFH เต็มรูปแบบ

- ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ปิด 20.00 - 04.00 น.

- ห้ามออกนอกเคหะสถาน 21.00-04.00 น.

- ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกิน 5 คน

- สั่งปิดร้านนวด, สปา, สถานเสริมความงาม

- ขนส่งสาธารณะ ให้บริการ 03.00-21.00 น.

- สวนสาธารณะ ปิด 20.00 น.

- ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด (ยกเว้นกรณีจำเป็น)

เฉพาะมาตรการเริ่มตั้งแต่ 06.00 น. วันที่ 10 ก.ค.64 นอกจากนี้ยังขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนถึง 30 ก.ย. 2564

ด่านตรวจสกัดเคอร์ฟิว

พื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งด่านตรวจทั้ง 88 จุดทั่วกรุงเทพฯ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น

หากพบว่ามีการเดินทางฝ่าฝืนในช่วงห้ามออกนอกเคหสถานก็จำเป็นต้องดำเนินคดีเป็นรายๆ ไป แต่ตำรวจจะดูเจตนาของแต่ละบุคคล ว่าจงใจกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าไปตรวจตาในพื้นที่ชุมชนต่างๆว่ามีการมั่วสุมหรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินคดีอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน

ปริมณฑล (ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) ตั้งจุดตรวจ 20 จุด

4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี) ตั้งจุดตรวจ 39 จุด

ใครที่ได้รับการยกเว้น ห้ามออกนอกเคหสถาน

  1. ผู้ป่วยที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านสาธารสุข
  2. ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ สินค้าเพื่อส่งออกหรือนำเข้า
  3. ผู้ขนส่งและผู้เดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยานหรือสถานีขนส่ง
  4. ผู้ขนส่งและประชาชนที่เดินทางไปยังที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
  5. ผู้โดยสารและผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในเวลานั้น
  6. ผู้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง หรือผู้ประสบภัย
  7. ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและอาหาร
  8. ผู้บริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
  9. ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย
  10. ผู้บริการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงข่ายและอุปกรณ์ในการสื่อสารโทรคมนาคม
  11. ผู้บริการงานช่วยเหลือกู้ภัย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภัยพิบัติ
  12. ผู้บริการด้านธนาคาร ตลาดทุน การประกันภัย
  13. ผู้จำเป็นต้องดำเนินงานกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่
  14. ผู้ทำงานตามรอบเวลา กะ หรือการทำงานตามผลัดเปลี่ยนเวรยาม หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ตามปกติของทางราชการและเอกชน
  15. การทำงานในโรงงาน งานก่อสร้าง งานบำรุงรักษาหรืองานเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานได้
  16. งานดูแลรักษาความปลอดภัย งานด้านเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ การตรวจรักษาสัตว์

หากมีความจำเป็นอื่น ให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตามกฎหมายกำหนด