สธ. เตรียมเสนอวัคซีนบูสเตอร์โดส "แพทย์ด่านหน้า" พรุ่งนี้

11 ก.ค. 2564 | 17:51 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 01:11 น.

สธ. เสียใจพยาบาลเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เตรียมเสนอการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณา พรุ่งนี้

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 โดยพยาบาลรายนี้ได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็มเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 

 

แต่จากการปฏิบัติงานภายในหอผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด 19 แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสรับเชื้อจากการปฏิบัติงาน ถือเป็นความเสียสละที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท และจากการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสจากอัลฟาเป็นเดลต้า ทำให้การป้องกันโดยวัคซีนโควิด 19 อาจไม่ได้ผลดีเท่าเดิม 

 

ล่าสุด คณะกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ด้านไวรัสวิทยา และโรคติดเชื้อเข้าร่วม เห็นตรงกันว่า บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 1 เข็ม ด้วยวัคซีนต่างชนิด คือ ไวรัลเวคเตอร์ หรือ mRNA โดยเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาวันที่ 12 กรกฎาคมนี้

“หากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบสามารถดำเนินการได้ทันที กระทรวงสาธารณสุขจึงได้สำรวจความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อจัดสรรและส่งวัคซีนไปฉีดเป็นเข็มกระตุ้น โดยจะมีการเก็บข้อมูลด้วยการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันก่อนและหลังฉีด เพื่อเป็นประโยชน์การให้วัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มอื่นๆ ต่อไป 

 

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไวรัสตัวใหม่มักมีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น คำแนะนำแนวทางการให้วัคซีนจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อรับมือกับเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และผู้รับวัคซีนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” 

สำหรับข้อมูลการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 10 กรกฎาคม 2564 มีจำนวน 880 ราย เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นกลุ่มพยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาลมากที่สุด 54% กลุ่มอายุที่มากที่สุด คือ ช่วงอายุ 20-29 ปี จากการตรวจสอบข้อมูลการรับวัคซีนพบว่า มีจำนวน 173 คน หรือ 19.7% ที่ไม่มีประวัติฉีดวัคซีน

โดยมีรายงานการเสียชีวิต 7 ราย จำนวนนี้ไม่ได้รับวัคซีนโควิด 5 ราย ได้รับวัคซีน 2 ราย โดยรายแรกรับวัคซีนซิโนแวคเพียงเข็มเดียว เนื่องจากเริ่มป่วยหลังรับวัคซีนเข็มสองเพียงวันเดียว ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อฉีดสองเข็มแล้ว 14 วัน ส่วนอีกรายฉีดครบสองเข็มคือพยาบาลรายดังกล่าวที่เสียชีวิต

 

ทั้งนี้ ผู้ที่รับวัคซีนครบมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่รับวัคซีน เนื่องจากข้อมูลพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม จำนวน 22,062 ราย มีรายงานป่วย 68 ราย คิดเป็นอัตรา 308 ต่อการฉีดแสนโดส แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 67 ราย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม จำนวน 677,348 ราย มีรายงานป่วย 618 ราย คิดเป็นอัตรา 91 ต่อการฉีดแสนโดส ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 597 ราย อาการปานกลาง 19 ราย และอาการรุนแรง 1 ราย 

 

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส จำนวน 66,913 ราย มีรายงานป่วย 45 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 43 ราย อาการปานกลาง 1 ราย และอาการรุนแรง 2 ราย

 

“ในระยะนี้มีการระบาดของโควิด 19 จากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในหลายพื้นที่ แม้ว่าคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันอาการรุนแรง แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ จึงต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันโรค โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มรับประทานด้วยกันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น”