หมอนิธิ เตือนสธ. ไฟเขียวใช้ rapid test ไร้แผนรองรับ จลาจลแน่

11 ก.ค. 2564 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2564 | 20:14 น.
1.9 k

“หมอนิธิ” โพสต์เฟซบุ๊ค เตือนสธ. หลังไฟเขียวให้ประชาชนใช้ rapid test ชุดตรวจไว ย้ำต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน พร้อมแนวปฏิบัติ หวั่นผลตรวจติดเยอะ ไม่มีแผนรองรับเป็นรูปธรรม เกิดจลาจลแน่

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีมติให้มีการกำหนดแนวทางการใช้การตรวจหาแอนติเจนโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ดังนี้       

1. ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.

2. ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ใช้โดยสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองทางห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

3. ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจากการแหย่จมูกตามที่ชุดตรวจกำหนด

4. ผู้ป่วยที่มีอาการให้มีการพิจารณาการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ก่อน

5. กรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้ใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ถ้าให้ผลบวกให้ตรวจยืนยันด้วย RT-PCR

6. ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการให้ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Rapid Antigen Test

 

นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า ทัวร์เดิมเพิ่งซาไป ไม่รู้ว่าจะมีทัวร์มาอีกรอบไหม?

 

เรื่องrapid test ชุดตรวจไว

 

ที่ผมแนะนำมาตลอดว่าควรมี แต่ขณะนี้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้แล้วนั้น… ผมกังวลมากกว่า เพราะ สธ.​ยังไม่ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนไว้ว่าในรายที่จะตรวจพบผลเป็นบวก (หรือผลเป็นลบก็ตาม) จะทำอย่างไร  ตอนนี้ถ้าไม่มีแนวปฏิบัติ คอขวดในการรอก็จะไปอยู่ที่การรอเตียงแอดมิต

 

แทนที่รอตรวจที่โอพีดี หรืออาจจะทำให้คนตื่นไปตรวจมากขึ้นโดยไม่จำเป็น​ (เช่นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด หรือฉีดวัคซีนครบแต่สัมผัสวงที่สองหรือสาม หรือไม่มีอาการเลย​ แต่แค่อยากรู้) กลายเป็นไปแออัดกัน ไปรับเชื้อกัน  วันที่ไปตรวจไม่มีเชื้อ วันสองวันต่อมากลายเป็นมี​ (เพราะตรวจเร็วไป หรือไปรับเชื้อโรคในวันที่ไปตรวจ)

 

แนวปฏิบัติที่ต้องมีคร่าวๆ​ คือ

 

1) ถ้าตรวจได้ผลบวกจาก rapid test ทำไงต่อ ได้ผลลบทำไงต่อ​ (ในภาวะรุนแรงการระบาดที่ต่างกันแนวทางก็ไม่เหมือนกัน ผู้กำหนดต้องเข้าใจเรื่อง Pretest likelihood)

 

2)การ ปชส. สอน ปชช.ให้เข้าใจว่า​ การดูแลสังเกตุอาการที่ต้องมาตรวจ​ คืออะไร? สัมผัสอย่างใดที่เรียกว่าใกล้ชิด​ และควรมาตรวจวันไหน ระหว่างยังไม่ถึงเวลาที่ควรมาตรวจ​ อยู่ที่บ้านควรจะทำอย่างไร)

 

ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมต้นทุนตรงนี้จะมหาศาล รบ.จะแบกไม่ไหว​ ไหนจะ ค่าตรวจ จำนวนเตียงที่ต้องเพิ่มขึ้น​ ทั้งเตียง hospitel รพ. สนาม จนถึงค่าอุปกรณ์เครื่องมือในไอซียู​ (ใครมีรายได้ตรงนี้กันบ้างไม่แน่ใจ) แต่คนทำงานหนัก​ คือแพทย์พยาบาลซึ่งมีเท่าเดิม

หมอนิธิ เตือนสธ. ไฟเขียวใช้ rapid test ไร้แผนรองรับ จลาจลแน่

ตราบใดที่ไม่มีมาตรการ...

 

1)ลดคนเข้า รพ. ฝึกและสอนวิธีคัดกรอง​ คนที่ดูแลตัวที่บ้านได้ให้อยู่บ้าน และมีระบบติดตามให้พร้อม

 

2) ป้องกันคนไม่มีอาการ​ให้กลายเป็นคนมีอาการ​ (ซึ่งมีวิธีอยู่​ อย่าปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูล)

 

3) ป้องกันคนมีอาการน้อยไม่ให้กลายเป็นมีอาการมาก

 

4)ลดคนมีอาการมากไม่ให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ… อย่าแค่ตั้งรับ เราเพิ่มคนไม่ได้ อย่าบอกว่ารอวัคซีน เพราะวัคซีนกว่าจะเห็นผล​ ต้องรอหลายเดือน​

 

และที่สำคัญ ต้องประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง​ ให้ความรู้ความเข้าใจคนว่า...

 

1)เมื่อไหร่จำเป็นต้องมาตรวจ

 

2)ถ้าจะให้มาเมื่อมีอาการอาการอะไร​ หรือสัมผัสอย่างไรถึงควรมาตรวจ  และควรมาวันไหน ระหว่างรอมาตรวจทำอย่างไร

 

ที่สำคัญอีกเรื่องคือการตรวจแบบไวนี้ถูกออกแบบมาให้เป็นการทำด้วยตัวเองครับ ดังนั้นคนทำการตรวจร้อยครั้งเรามีเทคนิเชี่ยนช่วยทำร้อยคน แต่ถ้ามาทำในโรงพยาบาลเรายังมีคนทำเท่าเดิมกลายเป็นคอขวดที่คนตรวจ

 

การตรวจทำพร้อมๆกันไม่ได้เหมือนเครื่องRtPCRที่ทำพร้อมๆกัน เก้าสิบกว่าราย(หรือมากกว่า) ใช้คนสี่คน ตรวจรอบแรกใช้เวลาสี่ชั่วโมงแต่รอบต่อๆไปใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ ถ้าเป็นการตรวจแบบไว(rapid test) การตรวจหนึ่งรายใช้เวลา 15-20นาที(อ่านไม่ตรงเวลาผลอาจคลาดเคลื่อน)

 

เทคนิเชี่ยนหนึ่งคนต้องนั่งจ้องดูผลอย่างมากได้ 10 รายกว่าๆ และทำได้เป็นแบบอนุกรม ถ้าคนอยากตรวจมาพร้อมกัน เป็นร้อยคนที่ มาท้ายๆต้องรออยู่ดี   แต่ถ้าจะให้ทำเองที่บ้าน(ซึ่งมันถูกออกแบบมา) เตรียมพร้อมให้การศึกษาหรือยังว่าจะกำจัดขยะเหล่านี้อย่างไร

 

ผมว่าเรายังไม่มีแผนใดๆที่เห็นเป็นรูปธรรม ปล่อยแบบนี้จลาจลแน่ เคอร์ฟิวก็เอาไม่อยู่ ตอนนี้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันแบบสร้างสรรค์ อย่าไปกดดันกัน อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ให้การศึกษาให้ทั่วถึง  และตัวเลขที่จะช่วยตัดสินใจมีอยู่แล้ว แค่อยู่ต่างที่ต่างกรม  เอาตัวเลขมาโชว์ the whole truth เพื่อที่ทำอะไร​ หรือมีมาตรการอะไรไป​ จะได้ประเมินผลลัพธ์ได้ และระหว่างทางต้องมีตัวชี้วัดด้วยเผื่อต้องปรับแผนระหว่างทาง