จับตาผลประชุมศบค.ชุดใหญ่ ประกาศล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว วันนี้ 

09 ก.ค. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 17:14 น.
1.7 k

จับตาผลประชุมศบค.ชุดใหญ่วันนี้(9ก.ค.) นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ จะมีการพิจารณามาตรการล็อกดาวน์-ประกาศเคอร์ฟิว เพื่อยกระดับควบคุมการระบาดของโควิด-19 แบบเจ็บแล้วจบ

วันนี้(9ก.ค.64) ต้องจับตาการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ว่าจะมีการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 ด้วยการ ประกาศเคอร์ฟิว(กำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหะสถาน) และมาตรการล็อกดาวน์ สถานที่หรือกิจกรรมใดเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร 

จับตาผลประชุมศบค.ชุดใหญ่ ประกาศล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว วันนี้ 

โดยการประชุมศบค.วันนี้จะเริ่มเวลา 10.00 น. โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 9/2564 ผ่านระบบ Video Conference

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. กระทรวงสาธารณสุขประกาศ 5 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และเสนอมาตรการ "ล็อกดาวน์" ให้ศบค.พิจารณาจำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง 14 วันในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลง 5 มาตรการ ดังนี้ 

จับตาผลประชุมศบค.ชุดใหญ่ ประกาศล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว วันนี้ 

  1. การตรวจหาเชื้อตามปกติใช้วิธี RT-PCR ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เก็บตัวอย่าง และเมื่อมีการตรวจมากทำให้รอผลตรวจนานข้ามวัน จึงให้ใช้ Rapid Antigen Test หรือชุดทดสอบแบบรวดเร็ว โดยสถานพยาบาลดำเนินการได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และจะวางระบบรองรับเรื่องการตรวจด้วยตัวเองที่บ้านต่อไป 
  2. การดำเนินการแยกกักที่บ้านและชุมชน (Home Isolation & Community Isolation) ในผู้ป่วยโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดระบบสาธารณสุขดูแลติดตามให้เครื่องมือในการตรวจวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด หากอาการมากขึ้นหรือมีความเสี่ยงจะรับมาดูแลในโรงพยาบาล และร่วมกับ สปสช.ปรับเกณฑ์ เรื่อง Home Isolation นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลครบ 10 วันให้กลับมา Home Isolation ต่อจนครบ 14 วัน เพื่อลดปริมาณการใช้เตียง ให้คนที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นเข้าสู่โรงพยาบาลได้ต่อไป
  3. มาตรการส่วนบุคคล โดยให้ Bubble and Seal ตัวเอง แยกรับประทานอาหารที่บ้านและที่ทำงาน เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อจากที่บ้านและที่ทำงาน และเน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อต่อไป  
  4. จะเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยจะฉีดวัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ใน 2 กลุ่มนี้ เน้นพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑล จะเร่งฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ภายใน 1-2 สัปดาห์ 
  5. กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ ศบค.เพื่อยกระดับมาตรการทางสังคม ในการจำกัดห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงสถานที่รวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น ยกเว้นตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร เดินทางไปโรงพยาบาล หรือไปฉีดวัคซีน เป็นต้น

โดยมาตรการนี้จะดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการระบาดใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งจะเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณามาตรการต่อไป

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงนี้ ยังพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน ลดการติดเชื้อโควิด 19 ส่วนสถานที่ทำงานขอให้เน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและนำเชื้อจากนอกบ้านมาแพร่สู่คนในครอบครัว

หากจำเป็นต้องเดินทางออกไปทำงานหรือออกไปทำธุระส่วนตัวนอกบ้าน ขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะรักษามาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

คำแนะนำในการป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ มีดังนี้ 

1) ด้านอาคารสถานที่และยานพาหนะ ต้องดูแลความสะอาดสถานที่ให้บริการและอุปกรณ์ที่มีผู้โดยสารใช้ร่วมกัน เช่น ห้องสุขา สถานที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ปุ่มกดตู้จำหน่ายตั๋ว อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง และเพิ่มความถี่ให้มากขึ้นในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก

สำหรับยานพาหนะ ให้ทำความสะอาดทุกเที่ยวที่มีการให้บริการ โดยเน้นการเช็ดถูพื้นผิวที่เป็นจุดสัมผัสร่วม มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวจับในรถโดยสาร เบาะนั่ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ 70% สำหรับบัตรโดยสารที่ใช้ซ้ำได้ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อทำลายเชื้อไวรัสที่เกาะอยู่บนพื้นผิวสัมผัส  

จับตาผลประชุมศบค.ชุดใหญ่ ประกาศล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว วันนี้ 

2) คนขับและพนักงานประจำรถโดยสาร ต้องรักษามาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัดและสังเกตอาการป่วยของผู้ใช้บริการ  

3) ด้านการบริการ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสาร เช่น การจำหน่ายตั๋วโดยสารทางออนไลน์ ส่งเสริมการใช้บัตรโดยสารส่วนตัว เช่น บัตรเติมเงิน เพื่อลดความแออัดบริเวณที่จำหน่ายตั๋วและลดการสัมผัสตู้ซื้อตั๋วโดยสาร  และจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ที่จุดบริการ

 นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานที่ทำงานขอให้เน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) หากจำเป็นต้องเดินทางออกไปทำงานหรือออกไปทำธุระส่วนตัวนอกบ้าน ขอให้รักษามาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1-2 เมตร ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์

ไม่สัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันในสถานที่ทำงาน ลดการเดินทางไปยังสถานที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 

โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก หากมีอาการป่วย ไข้ ไอ จาม เป็นหวัด ให้หยุดพักสังเกตอาการที่บ้าน และเมื่อกลับถึงบ้านต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เว้นระยะห่าง แยกสำรับอาหาร งดการทานอาหารร่วมกัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและนำเชื้อจากนอกบ้านมาแพร่สู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมบ้านกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว

เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวหากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422