สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข. เปิดวงเสวนา “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย”

13 เม.ย. 2564 | 12:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2564 | 08:01 น.

สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข. ผนึกภาคี จัดงาน “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย” โชว์สินค้ากัญชง

ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ตามที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชากัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 

ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับใบอนุญาตในการผลิต (ปลูก) กัญชง (ตามหนังสือสำคัญ ที่ 19/2563 เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2563) จำนวนพื้นที่ ในการเพาะปลูก 1,664 ตารางเมตร ณ หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้รับเมล็ดพันธุ์กัญชงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มาทำการปลูก

ทั้งนี้ การปลูกกัญชงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ศึกษาวิจัยการประเมินและพัฒนาสายพันธุ์กัญชง เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการจัดพิธี “กัญชงลงแปลง” สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานั้น เพื่อให้บุคลากร ประชาชนผู้สนใจเกี่ยวกับความรู้ด้านการปลูก การขออนุญาต และการใช้ประโยชน์จากกัญชง ตลอดถึงความรู้และความใจเกี่ยวกับกัญชงด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการปลูกที่ต้องสร้างความเข้าใจและให้องค์ความรู้ 

เนื่องจากต้องดำเนินงานภายใต้กฎกระทรวงระบุไว้ซึ่งต้องมีปริมาณ Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง การปลูกกัญชงจึงเน้นระยะห่างระหว่างต้นให้ใกล้กันที่สุดซึ่งจะไปกระตุ้นให้มีลำต้นยาวตรงสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้อง หรือข้อยาว เพื่อนำเส้นใย แกนลำต้น เมล็ด และใบจากกัญชง มาใช้ประโยชน์ การจัดกิจกรรม “ร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย” 

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า  สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกัญชงเพื่อการนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ในมนุษย์และสัตว์ รวมไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ

สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยพืช กัญชา เพื่อการวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สารสำคัญ รูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มข. เปิดวงเสวนา “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย”  

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่แรกในจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัยฯ ซึ่งในการจัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้ เป็นกิจกรรมการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง ให้กับวิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายที่บังคับใช้ ตลอดจนเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชน ของจังหวัดขอนแก่น 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมที่จะทำเป็นศูนย์อุตสาหกรรมกัญชงขนาดใหญ่ แม้การใช้กัญชงกัญชาทางการแพทย์ที่ผ่านมาค่อนข้างมีข้อจำกัด ในการนำกัญชงมาใช้รักษาโรคในทางการแพทย์

“ปัจจุบัน มีความก้าวหน้ามาก เพราะได้นำเมล็ดพันธ์กัญชาจากภาคเหนือมาทดลองปลูกในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างจากภาคเหนือมาก ทั้งเป็นพื้นที่ต่ำ และมีสภาพอากาศ แสงแดด และอุณหภูมิที่ค่อนข้างแตกต่าง แต่หลังจากนำมาทดลองปลูกพบว่า ได้ผลผลิตดี 

เพราะโดยปกติยอดกัญชา จะเก็บเก็บเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณหกเดือน แต่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเก็บผลผลิตได้เลยตั้งแต่ช่วงสามเดือน ทั้งนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วตั้งแต่ช่วงสามเดือน อาจเป็นเพราะฤดูกาลเป็นตัวแปร หรือแสงแดด ทีมที่กำลังทำการศึกษาในประเด็นนี้อยู่ด้วย แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกที่พบคือ แม้ว่าสภาพภูมิอากาศจะแตกต่าง แต่ต้นกัญชาสามารถปลูกในพื้นที่ดังกล่าวได้จริง 

โดยที่ไม่กลายพันธุ์ มีการพัฒนาสายพันธุ์เป็นของประเทศไทยเอง ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์แรกของประเทศไทย โดยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีทั้งกัญชงและกัญชา คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จะมีเป็นสายพันธุ์ต้นแบบของขอนแก่นที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถขยายเมล็ดพันธุ์นำไปปลูกได้ทั่วประเทศไทย

“นอกจากนี้ราคาตามท้องตลาดในการจำหน่ายเมล็ดพันธ์กัญชง ได้มีการคาดการณ์ว่า อาจอยู่ที่กิโลกรัมละ 200,000 บาท จนถึง กิโลกรัมละ 1 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ความเป็นไปได้ของราคาน่าจะอยู่ที่ 200,000 บาท ในขณะที่ตอนนี้บริษัทหลายแห่งมีความต้องการที่จะมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชง ขอร่วมลงทุนปลูกและสกัด เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นจึงถือได้ว่ากัญชงจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศได้” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในตอนท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :