แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญในยุคไทยที่กำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) ในฐานะผู้ประกอบการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีแบบครบวงจร ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเลือกนำทรัพยากรที่มีอยู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยล่าสุด ได้จับมือกับสถาบันการศึกษา สร้างโครงการ The Tech Melody “ให้บทเพลงพูดแทนเทคโนโลยี” ขึ้น
“วรดิษฐ์ วิญญรัตน์” กรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการ ทีซีซีเทค บอกว่า ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดทำ Knowledge Sharing Platform ภายใต้ชื่อ OPEN-TEC ซึ่งวางเป้าหมายสู่การสร้างเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ 3 มิติหลัก ได้แก่ 1. ด้านการสร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ Learning Society 2. ด้านการยกระดับดิจิตอลให้กับองค์กร Digitalization และ 3. ด้านการสร้างคุณค่าร่วมสู่การพัฒนาในวงกว้าง เพื่อความยั่งยืนของชุมชน (Create Shared Value towards Sustainable Community)
สำหรับโครงการ The Tech Melody “ให้บทเพลงพูดแทนเทคโนโลยี” ถือเป็นกิจกรรมย่อยภายใต้แพลตฟอร์ม OPEN-TEC ที่ต้องการพัฒนา Knowledge Innovation หรือสร้างนวัตกรรมความรู้ ด้วยกระบวนการใหม่ๆ จึงมีการร่วมมือกับวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพืื่อกระตุ้นการรับรู้ของนิสิต/นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับเทรนด์ของเทคโนโลยี ที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล รวมถึงเป็นการพัฒนาให้เกิด Knowledge Innovation หรือการสร้างนวัตกรรมความรู้ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก สำหรับการสร้างคอนเทนต์และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการใหม่ๆ โดยนำจุดเด่นของ “ดนตรี” เข้ามาประยุกต์ใช้ และพัฒนาต่อยอด เพื่อทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัวแบบง่ายๆ
ขอบข่ายความร่วมมือ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ร่วมกันทำ Workshop ให้ความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและดนตรีแก่นักศึกษาในโครงการฯ 2. ร่วมกันสร้าง Knowledge Innovation ในรูปแบบบทเพลง ซึ่งทีซีซีเทคมีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Digital Transformation ให้กับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเรียบเรียงเนื้อร้องและทำนอง ฯลฯ
นักศึกษาได้เข้าถึงโจทย์จากภาคธุรกิจ สามารถวิเคราะห์ความต้องการ เข้าใจแก่นของโจทย์อย่างแท้จริงก่อนนำมาตีความในเชิงศิลปะ ภายใต้เวลาอันจำกัด ทั้งนี้บทเพลงที่โดดเด่นทั้งในด้านทักษะการเรียบเรียงคำร้องและทำนองรวมถึงการตีความเกี่ยวกับแนวคิดการทำ Digital Transformation จนได้รับคะแนนโหวตจากคณะกรรมการมากที่สุด คือ เพลง “YOU&I” ซึ่งเป็นแนวดนตรีสไตล์ EDM POP เรียบเรียงคำร้องโดยนางสาวชนกชนม์ เฉลิมชุติเดช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 แขนงวิชาการผลิตดนตรี วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
รูปแบบของโครงการ บริษัทฯ ทำหน้าที่คัดเลือกคำสำคัญ (Keyword) ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Transformation และส่งต่อคำ keyword เหล่านั้น ให้กับทางนักศึกษา เพื่อเรียบเรียงเป็นบทเพลง ทำนอง โดยมีอาจารย์ วีรภัทร์ อึ้งอัมพร รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ เป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาในโครงการฯ นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรม WORKSHOP : ภายใต้หัวข้อ “DIGITAL TRANSFORMATION ปรากฎการณ์ที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจ” เพื่อให้ความรู้กับนักศึกษาทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะด้าน Creative Music Production โดยมีแชร์ข้อมูลเชิงลึกในมิติต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในโครงการ จากผู้ทรงคุณวุฒิ
ผลงานที่ผ่านการพิจารณามี 3 บทเพลง ได้แก่ 1.เพลง : YOU & I แนว EDM POP เรียบเรียงคำร้องโดย ชนกชนม์ เฉลิมชุติเดช ขับร้องโดย ณัฐฐิญา ไกรวชิรสิทธิ์ และ พงษ์พิษณุ พงษ์พยอม 2. เพลง : ทางเลือกใหม่ แนว Synthpop เรียบเรียงคำร้องโดยมงคล สัจจวรกุล และพรชัย สมานญา เรียบทำนองโดยฒิพงศ์ ภววทัญญู และกวินท์ วรรณศิริ ขับร้องโดยสวารินทร์ กุลเจริญ 3.เพลง : Everybody, move on แนว Rock เรียบเรียงคำร้องและทำนองโดยณัฐณิชา สุนทร ขับร้องโดยพงษ์พิษณุ พงษ์พยอม
ในอนาคต OPEN-TEC ต้องการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงศักยภาพของเทคโนโลยี และบุคลากรสายไอทีทั้งไทยและเทศไว้บนเวทีเดียวกัน(Technology Ecosystem) เพื่อเป็นศูนย์กลางของการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายระดับสากล รวมถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการคัดเรื่องประเด็น การวางกรอบ กำหนดตัวชี้วัดของโครงการ
หน้า 24 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3452 วันที่ 14-16 มีนาคม 2562