เสียงเตือน ปมตั้ง “ประธานบอร์ดธปท.” การเมืองห้ามแทรก 

12 ต.ค. 2567 | 05:37 น.

2 คอมเมนต์จาก อดีตบอร์ดแบงก์ชาติ และ อดีตบอร์ด กนง. ปมสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ย้ำความสำคัญเป็นอิสระของ ธปท.-การเมืองอย่าแทรก ต้องทำงานโปร่งใส มีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

ท่ามกลางการเตรียมสรรหา “ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ที่กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในผู้คนแวดวงวงการการเงิน 

โดยอดีตกรรมการ ธปท. และ กนง. ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความเป็นอิสระของสถาบัน พร้อมกับแนะนำว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนี้ควรมีความเข้าใจในเศรษฐกิจ มุ่งมั่นพัฒนาประเทศ และทำงานอย่างโปร่งใส 
และที่สำคัญไม่ควรมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ

นั่นเพราะ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” มีอิทธิพลต่อการสรรหาผู้ว่าการ ธปท. จึงจำเป็นต้องมีความเป็นกลางสูง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ใครจะเป็นประธานบอร์ด ธปท. ไม่สำคัญเท่าความเป็นอิสระขององค์กร

ดร. สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง อดีตกรรมการแบงก์ชาติ 2 สมัย ไม่อยากให้หมกมุ่นมากนักว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานบอร์ดธปท. ความพยายามที่จะดูแลความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นเรื่องที่ดี และไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองจนกระทบการทำงานของธปท. เพราะที่ผ่านมาเราเสียเวลากับเรื่องจุกจิกพวกนี้มามากจนประเทศไม่ก้าวไปไหน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ วิ่งแซงหน้าเราไปมากแล้ว ส่วนตัวคิดว่าคนที่จะเข้ามาเป็นประธานบอร์ดธปท. ต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น

เสียงเตือน ปมตั้ง “ประธานบอร์ดธปท.” การเมืองห้ามแทรก 

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไปกำหนดกติกาต่างๆ ในโลกได้ เช่น ในเรื่องดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในระบบการเงินโลก ธปท. จึงต้องดูแลให้สอดคล้องกับเทรนด์การเงินโลก อีกประเด็นที่สำคัญคือโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ภาคอุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่กว่า 30% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งธปท. กำลังดูอยู่ว่าจะปรับระบบเศรษฐกิจใหม่ของเราอย่างไร ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าใครจะเข้ามาเป็นประธานบอร์ด

จากประสบการณ์ที่ได้เป็นบอร์ดธปท. มา 2 สมัย ไม่รู้สึกเป็นห่วงว่าใครจะเข้ามาเป็นประธานบอร์ดคนใหม่ แต่ขอให้เป็นคนที่เข้าใจพื้นฐานเศรษฐกิจ เพราะเจ้าหน้าที่ของธปท. แต่ละคนเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้เดินหน้าต่อไปได้

ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่าการเมืองจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธปท. นั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าพนักงานของธปท. แต่ละคนมีความเป็นมืออาชีพ ไม่สามารถสั่งซ้ายหันหรือขวาหันเหมือนข้าราชการบางกระทรวงได้ ที่สำคัญโดยโครงสร้างการทำงานจะแบ่งการทำหน้าที่กันดูแลโดยคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น เรื่องนโยบายการเงินจะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้ดูแล ขณะที่เรื่องสถาบันการเงินก็จะมีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ดูแล

ส่วนบอร์ดธปท. ชุดใหญ่ทำหน้าที่เหมือนแม่บ้านที่คอยกำกับดูแลการทำงานเท่านั้น ไม่สามารถไปสั่งให้กนง. หรือกนส. ทำอะไรได้ตามใจชอบ จึงไม่ต้องห่วงในเรื่องความเป็นอิสระ

เสียงเตือน ปมตั้ง “ประธานบอร์ดธปท.” การเมืองห้ามแทรก 

แนะ! ประธานบอร์ด ธปท. ต้องโปร่งใส ไม่ใกล้ชิดการเมือง

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นการเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ตำแหน่งดังกล่าวจะต้องดูแลบริหารจัดการธนาคาร เพราะฉะนั้นจะต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าการ ธปท. และรองผู้ว่า ธปท. ค่อนข้างมาก โดยส่วนมากก็จะเป็นนโยบายทางด้านบริหาร รวมถึงนโยบายทางด้านบุคลากร โดยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน เพราะเรื่องดังกล่าวจะมี กนง. ที่ดูแลอยู่แยกออกไปเฉพาะ ซึ่งมีผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งประธาน ธปท. ย่อมมีอิทธิพลต่อการเลือกหรือสรรหาผู้ว่าการ ธปท. อยู่ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นในเรื่องความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และความโปร่งใส รวมถึงความสุจริตเป็นธรรมจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งจึงต้องมีคุณสมบัติสำคัญดังกล่าวเหล่านี้

"ความเป็นอิสระถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะทางด้านการเมืองจะต้องให้ห่างไกลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่ายิ่งไม่ต้องมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี"

สำหรับผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน ธปท. ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะถูกเลือกมาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือนักวิชาการที่เกษียณอายุการทำงานไปแล้ว มากกว่าที่จะให้คนของพรรคการเมืองเข้ามารับตำแหน่ง

นายพรายพล กล่าวอีกว่า การที่นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. ออกมาแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่กับข้อความที่ส่งสัญญาณออกมา เพราะนางธาริษาถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และเคยทำงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการ ธปท.

"เห็นด้วยอย่างมากที่อดีตผู้ว่า ธปท. อย่างนางธาริษาออกมาแสดงความคิดเห็น แม้ว่าจะไม่ใช่การแทรกแซงโดยตรง แต่ถือว่ามีโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงนโยบายการเงิน เพราะฉะนั้นจึงควรต้องระมัดระวังอย่างมาก"