ทำไมธนาคารกลาง จึงควรมีความเป็นอิสระ

09 ต.ค. 2567 | 17:02 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 17:03 น.

ธนาคารกลางมีหน้าที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน ความเป็นอิสระความเป็นอิสระของธปท.จึงถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง

ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือ แบงก์ชาติ ธนาคารกลางของไทยถูกหยิบยกพูดถึงอีกครั้ง หลังมีกระแสข่าวว่า บุคคลที่เป็นตัวเต็งที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ธปท.คน ใหม่จากฝั่งกระทรวงการคลังคือนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตประธานที่ปรึกษาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี 

ทั้งนี้ธปท.อยู่ระหว่างการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธปท.คนใหม่ แทนที่นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระลง ซึ่งในการคัดเลือกนั้น กระทรวงการคลังได้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 1 ชุด เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยกระทรวงการคลังส่ง 3 รายชื่อและธปท.ส่ง 6 รายชื่อ

กระทรวงการคลังได้ส่ง 3 รายชื่อให้ธปท.เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งมีกระแสข่าวว่า 1 ใน 3 ชื่อนั้นมี 1 คนที่ขาดคุณสมบัติ ทำให้ทุกคนพุ่งประเด็นไปที่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคุณสมบัติพบว่า นายกิตติรัตน์พ้นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี จึงไม่ขัดคุณสมบัติตามที่กฎหมายเขียนไว้ จึงมีประเด็นตามมาว่า

8 คุณสมบัติต้องห้ามกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธปท.

แม้จะไม่ขัดคุณสมบัติ แต่ก็รับรู้กันทั่วไปว่า นายกิตติรัตน์ยังคงทำงานใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดปัจจุบันมากถึงมากที่สุด และที่สำคัญ นายกิตติรัตน์ยังมีภาพความขัดแย้งการการดำเนินนโยบายของธปท.หลายๆครั้งในช่วงที่ผ่านมา   

กระแสการต่อต้านการเข้ามาของนายกิตติรัตน์ จึงออกมาทั่วสารทิศ ทั้งผ่านบทความ บทวิเคราะห์ของสื่อในหลายสำนัก กลุ่มลูกศิษย์หลวงตาบัวออกหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงการเมืองเข้ามาแทรกแซงธปท. รวมถึงกลุ่มอดีตพนักงาน ธปท. ออกหนังสือว่า ทำไมบทบาทของการเป็นประธานกรรมการในธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีความสำคัญ?

ล่าสุดนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท.เขียนข้อความระบุว่า ในขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธปท.เท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ หลังมีรายงานว่า คณะกรรมการสรรหาประธานและกรรมการบอร์ดแบงค์ชาติชุดใหม่จะประชุมสรุปวันที่ 8 ตุลาคมนี้  

ทำไมต้องพูดถึงความอิสระของธนาคารกลาง เพราะธนาคารกลางมีหน้าที่ในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจคือ

  • สถียรภาพด้านราคา คือ รักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ คือ ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจมีความผันผวนเกินไป ไม่ควรร้อนแรงจน น่าไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ หรือแย่จนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • เสถียรภาพของระบบการเงิน คือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ และรักษา เสถียรภาพของภาคการเงิน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวสุนทรพจน์งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 หัวข้อ “หนี้: The Economics of Balancing Today and Tomorrow” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ว่า  ธนาคารกลางทั่วโลก มีพันธกิจที่คล้ายคลึงกันคือ ไม่เพียงต้องการเห็นเศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องเสริมสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งต้องอาศัยเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ  

ธนาคารกลางจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการ ดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องให้น้ำหนักกับเสถียรภาพในระยะยาว ถึงแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถทำได้ผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้รวดเร็วในระยะสั้น แต่มักต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ และอาจเป็นการสะสมความ เปราะบางในระบบเศรษฐกิจจากการก่อหนี้เกินตัวหรือพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะ ฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาวหรือนำไปสู่วิกฤตร้ายแรงได้ 

“หน้าที่ในการ “มองยาว” ของธนาคารกลาง จึงต้องมาพร้อมกับอิสระในการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว หลายๆ ครั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบาย ในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้างและย่อมมีทั้งผู้ที่ ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์” 

ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอก็อาจทำให้เสียหลักการ ของการ “มองยาว” ได้ งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของ ธนาคารกลางเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา

ตัวอย่างงานวิจัยของ IMF ในปี 2023 พบว่า ประเทศที่ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระและน่าเชื่อถือ สามารถยึด เหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่าและประสบความสำเร็จในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองให้ความเห็นผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นบอร์ดของธปท.นั้น จะต้องมีคุณสมบัติทั้งความรู้ที่เกี่ยวข้องระบบการเงิน การคลังและด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากโลกมีความผันผวน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ดังนั้นการจะบริหารภายในประเทศจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวข้องสภาพแวดล้อมของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี หรือภูมิรัฐศาสสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กันด้วย  ขณะเดียวกันการบริหารที่ดีด้านเสถียรภาพ  การแก้ไขปัญหาระยะสั้นจะต้องไม่สร้างปัญหาระยะกลาง

"คุณสมบัติและความรู้ที่กล่าวข้างต้นจำเป็นต้องนำมาความรู้เหล่านี้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเพื่อรักษาความเป็นอัตลักษณ์และมีความเข้มแข็ง เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะคล้อยตามระบบการคลัง  ซึ่งไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นบอร์ดต้องมีความอิสระส่วนหนึ่ง ในการค้านอำนาจ  ซึ่งผู้นำต้องได้รับการยอมรับและที่สำคัญธปท.ไม่ได้ทำงานคนเดียวโดยต้องรับฟังผู้ร่วมนโยบายรอบด้านแต่สามารถถ่วงดุลระบบการคลัง”

ทั้งหมดจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกจึงต้องการความเป็นอิสระจากการแทรกแซงจากฝั่งการเมือง เพื่อให้นโยบายการเงินทำหน้าที่ดูแล ด้านเสถียรภาพ ไม่ใช่เน้นแค่การเจริญเติบโตระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่ควบคุมความเป็นอิสระโดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ และมีกลไกในการเปิดเผยข้อมูลและสื่อสารการตัดสินใจกับสาธารณะ

วิเคราะห์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,034 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567