thansettakij
แบงก์หวั่น ภาษีทรัมป์ฉุดกำไรลด เร่งประเมินคุณภาพหนี้

แบงก์หวั่น ภาษีทรัมป์ฉุดกำไรลด เร่งประเมินคุณภาพหนี้

11 เม.ย. 2568 | 05:31 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2568 | 05:31 น.

แบงก์หวั่น ภาษีทรัมป์ กระทบคุณภาพลูกหนี้ส่งออก เร่งทบทวนความเสี่ยงสินเชื่อ จากความสามารถชำระหนี้ลดลง ส่งผลหนี้เสียเพิ่ม รับกำไรถดถอยแน่ จี้รัฐเร่งเจรจาหาทางออก 

หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศภาษีตอบโต้ทางการค้ากับหลายประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) รวมถึงไทยที่ถูกจัดเก็บอัตราสูงถึง 36%  กระทรวงพาณิชย์ประเมินเบื้องต้นพบว่า สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูง 

ทั้งนี้สินค้า 15 อันดับแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯมากได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น

แหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ ( D-SIBs) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผลกระทบจากผู้ประกอบการส่งออกดังกล่าว ย่อมกระทบต่อสถาบันการเงินในฐานะผู้ให้บริการเงินทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทุกธนาคารคงจะกำลังพิจารณาทบทวนความเสี่ยงของสินเชื่อที่มีอยู่

เตรียมแก้ไขหนี้ สำรองหนี้สูญให้เพียงพอ และผลประกอบการธนาคารพาณิชย์น่าจะถดถอยต่อไป เพราะเมื่อลูกค้าถูกกระทบจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น ก็ย่อมกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างเลี่ยงได้ยาก 

“ลูกค้าโดน ธนาคารก็โดนต่อไปเป็นโดมิโน เพราะเบื้องต้น ลูกค้าแบงก์จะขายของได้น้อยลง ต้องลดราคาให้ผู้ซื้อ โดยรวมกำไรรจะลดลง ความสามารถในการชำระะหนี้ตํ่าลง กู้เงินได้ยากขึ้น ธุรกิจจะมีป้ญหาสภาพคล่อง ซึ่งที่สุดก็จะกลายเป็นหนี้มีปัญหามากขึ้น”

ในทางปฎิบัติเข้าใจว่า น่าจะมีการทบทวนเป็นรายๆ และตั้งสำรองเพิ่ม สำหรับบัญชีหรือลูกค้าที่กระทบเยอะ เพราะปฎิเสธผลกระทบไม่ได้ เมื่อเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรวมถึงภาคธุรกิจ SMEs แม้กระทั่งผู้ส่งออกรายย่อย ที่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

“ผลกระทบต่อเนื่องต่อไป รัฐบาลต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือ และก็จะเก็บภาษีได้น้อยลง งบประมาณก็น่าจะขาดดุลต่อเนื่องไปอีกหลายปี”

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)กล่าวว่า SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงจากนโยบายภาษีของทรัมป์ 2.0 ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งออก

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ

สาเหตุจากการส่งออกไทยพึ่งสหรัฐฯ สูงถึง 18% สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2562 

ทั้งนี้ หากเทียบกับประเทศในโลกที่มี GDP ใหญ่สุด 30 อันดับแรกและกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่า ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อ GDP ค่อนข้างสูงกว่าอยู่ที่ราว 10% ขณะที่ไทยเองก็โดน Reciprocal rate ในอัตราสูงกว่าด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจทำให้สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายราคาถูกกว่าไทย หรือสหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าจากไทยและคู่ค้าอื่น ๆ น้อยลง 

หากดูผลกระทบรายหมวดสินค้าส่งออก พบว่า กว่า 8 ใน 10 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมาก เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (8.2% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด) พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากถึง 42.9% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด หรือผลิตภัณฑ์ยาง โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากถึง 31.6% และ 58.5% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นๆทั้งหมด 

ดังนั้นไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เผยแพร่เดือน มีนาคม 2568 คือ ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯมากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐฯ

ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร และแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 2567 พบว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) หดตัวที่ 0.4% จากระยะเดียวกันปีก่อนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 2.0% โดยขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวลดลง ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและรายได้กลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า 

แบงก์หวั่น ภาษีทรัมป์ฉุดกำไรลด เร่งประเมินคุณภาพหนี้

 ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อ NPLs ไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.32 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.78% โดยหลักจากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,086 วันที่ 10 - 12 เมษายน พ.ศ. 2568