บสย.เตรียม 3 หมื่นล้าน ค้ำเงินกู้ SMEs-รถกระบะ

21 ก.พ. 2568 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2568 | 08:06 น.

คลังจ่อเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังสศค.ประกาศเป้าทั้งปี 3% บสย.ลุย 3 โครงการ ดันเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ ผุดผลิตภัณฑ์ใหม่ ค้ำประกันลีสซิ่งรถกระบะ 1 หมื่นล้าน ชงบอร์ดในก.พ.นี้ ผนึกแบงก์รัฐเดินหน้าอุ้มไมโครเอสเอ็มอี

หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2567 พบว่า แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)จะขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 3/2567 แต่เมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลออกแล้วกลับพบว่าจีดีพีไตรมาส 4/2567 ขยายตัวเพียง 0.4% เทียบกับการขยายตัว 1.2% ในไตรมาส 3/2567  

ขณะที่ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้จีดีพีขยายตัว 3.2% มาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขณะที่การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลชะลอลง

ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2567 จีดีพีไทยขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจาก 2% ปีก่อนและประมาณการปี 2568 จะขยายตัวได้เพียง 2.8% หรือในกรอบ 2.3-3.3% 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เคยแถลงไปแล้วว่า ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตมากกว่า 3% ซึ่งมาตรการต่างๆ อยู่ในแผนที่จะขับเคลื่อนต่อไป 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 3.5% จากประมาณการ 3%นั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายสูงมาก ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน จะต้องเข้าไปดูโครงการที่ขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนได้รวดเร็วขึ้น ก็มีส่วนช่วย 

“การผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้ เติบโต 3.5% จากประมาณการ 3% นั้นถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ และเป็นความท้าทายที่กระทรวงการคลังอยากจะขับเคลื่อน ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลย เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้ 2.8-3%”

ส่วนนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)นั้น หากเข้ามาช่วยกันได้ก็จะดี การผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5% ก็จะง่ายขึ้น ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ สศค.ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นการลงทุน อย่างไรก็ตาม เรื่องที่จะช่วยได้อย่างมาก คือ การเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพราะยอดขอรับบัตรส่งเสริม BOI สูงเป็นประวัติการณ์ 

“สิ่งที่จะเกิดประโยชน์จากการขอบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI คือ การลงทุน ซึ่ง BOI ได้รับโจทย์นี้ไปแล้วว่าจะเร่งรัดการลงทุน ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ส่วนการเดินหน้าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นั้น กฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา” นายลวรณกล่าว  

อย่างไรก็ตาม จากการแถลงผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ของระบบธนาคารพาณิชย์พบว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัวถึง 9.9% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหดตัว 7.6% นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากปัญหาในปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยเฉพาะรถเชิงพาณิชย์ที่ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินนั้นมีการปล่อยสินเชื่อน้อยลง 
 ทั้งนี้แนวทางที่กำลังพิจารณาในขณะนี้คือ ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยในส่วนนี้ โดยที่ผ่านมาการปล่อยกู้ที่บสย.ค้ำประกันนั้น บ.ส.ย.จะรับไว้แค่ 30% หากเป็นเรื่องรถยนต์ก็จะต้องมาดูว่า จะขยับสัดส่วนตรงนี้ขึ้นไปบางส่วน 

“ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครปล่อยสินเชื่อ แต่เราคิดว่า วันนี้เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง เริ่มเดินได้ ควรจะต้องหย่อนหน่อย เวลาทำก็ต้องมีการนำร่องไปก่อน”นายพิชัยกล่าว

ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 บสย. มีแผนที่จะเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)

การเดินหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 11 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว โดยมีวงเงินคงเหลืออยู่ 2 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ บสย. ได้รับนโยบายจากรัฐบาล ในการเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านโครงการค้ำประกันลีสซิ่งรถกระบะ วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยภายในเดือนก.พ.นี้ จะเสนอรายละเอียดให้กับคณะกรรมการ (บอร์ด) บสย. อนุมัติโครงการ

มาตรการช่วยเหลือ SMEs ของบสย.

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนั้น ตามกฎหมายของ บสย. เราจะเข้าไปค้ำประกันบริษัทลีสซิ่งได้ที่อยู่ในกลุ่มของธนาคาร ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 5-6 ราย ได้แก่ กรุงศรีออโต้ ลีสซิ่งกสิกรไทย และเกียรตินาคิน เป็นต้น 

ทั้งนี้ กรอบวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทดังกล่าวนั้น บสย. ยังดำเนินการเป็นรูปแบบพอร์ตการันตี ซึ่งสัดส่วน Max Claim อาจจะอยู่ที่ 20% โดยสัดส่วนต่ำกว่าการค้ำประกันสินเชื่อ PGS เนื่องจากการค้ำประกัน PGS มาจากการสนับสนุนของรัฐบาล และการสมทบจากลูกค้า สัดส่วน Max Claim จึงอยู่ที่ 30%

แต่การค้ำประกันลีสซิ่งนั้น เราจะใช้พอร์ตการันตีของเราเอง หลักของเงินมาจากลูกค้า รวมกับ บสย. ในระยะแรกเราจึงออกแบบเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนก่อน

“โครงการค้ำประกันลีสซิ่ง เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เราจะดำเนินการครั้งแรก ใช้งบการเงินในพอร์ตของบสย. เอง เรามองว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการที่อยากจะใช้รถกระบะตอนนี้ เข้าถึงได้ค่อนข้างยาก"

ดังนั้นจึงต้องการเข้าไปช่วยพยุง โดยมอง 2 กลุ่ม คือ ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าถึงรถใหม่ โอกาสในการโดนปฏิเสธสินเชื่อน้อยลง ซึ่งใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อเข้าไปช่วย และต้องการให้โอกาสอนุมัติทำได้มากขึ้น

นายสิทธิกร กล่าวว่า อีกหนึ่งโครงการที่ บสย. อยู่ระหว่างพิจารณา คือ การดูแลกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อ ยังไม่มีประวัติทางการเงิน เป็นไมโครเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ซึ่งความต้องการขอสินเชื่ออาจจะประมาณ 2-3 หมื่นบาทต่อราย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ 

สำหรับกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีรายย่อยนั้น เราเริ่มเห็นสัญญาณวงเงินเฉลี่ยต่อรายในการเข้าถึงสินเชื่อลดลง โดยปี 2566 วงเงินเข้าถึงสินเชื่อเฉลี่ยประมาณ 1.2-1.5 แสนบาทต่อราย แต่ปี 2567 การเข้าถึงสินเชื่อลดลง เหลือ 9 หมื่นบาทต่อราย

ยอมรับว่าวงเงินที่ลดลงไปจำนวนรายไมโครเอสเอ็มอีเข้าถึงมากขึ้น แต่สัดส่วนวงเงินที่หายไป ส่วนใหญ่ไปขยายตัวในสินเชื่อนอกระบบ จึงต้องการดึงกลุ่มดังกล่าวกลับมาสู่ระบบ 

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,073 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568