บสย.รื้อระบบค้ำประกันสินเชื่อ สู้ศึก Virtual bank – NaCGA

29 พ.ย. 2567 | 14:20 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 14:20 น.

บสย.จ่อรื้อระบบค้ำประกันสินเชื่อ สู้ศึก Virtual Bank – NaCGA นำร่องกลุ่มประมูลงานภาครัฐ ค้ำประกันตรง จ่ายเคลมเป็นรายใบ ผนึก 2 สถาบันค้ำประกันชั้นนำเกาหลี ใช้เครดิต สกอริ่ง โมเดล วางเป้าปี 68 ยอดค้ำทะลุ 5 หมื่นล้านบาท

ด้วยนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ที่จะออกมา ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับรายย่อยและเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้น ทั้งการเดินหน้าธนาคารไร้สาขา(Virtual Bank) และการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) ตามนโยบายของภาครัฐ

ส่งผลให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ซึ่งเป็นองค์กรค้ำประกันสินเชื่อที่ให้บริการมากว่า 33 ปี ต้องปรับตัว พัฒนากลไกการค้ำประกันใหม่ๆ ป้องกันการถูกดิสรัปชัน 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า การที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขา (virtual bank) จะเป็นโจทย์ที่สำคัญ

บสย.รื้อระบบค้ำประกันสินเชื่อ สู้ศึก Virtual bank – NaCGA

ฉะนั้น ก้าวต่อไปของ บสย. เราต้องทำการค้ำประกันสินเชื่อให้อยู่ในระบบนิเวศน์ด้าน virtual bank ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นไมโครเอสเอ็มอี 

 

นอกจากนี้ บสย. จะเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายภาครัฐ สู่การจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจากการหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)นั้น จะใช้ระยะเวลา 12 เดือน และจะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็น และจะมีการเก็บข้อมูลการค้ำประกันต่างๆ เป็นต้น

สำหรับมิติแรก บสย.จะขยายรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อ จากปัจจุบันที่ค้ำประกันและจ่ายเคลมเป็นรายพอร์ต (Portfolio Guarantee Scheme : PGS) เป็นการค้ำประกันตรงและจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายใบ (Direct and Individual Guarantee)

บสย.รื้อระบบค้ำประกันสินเชื่อ สู้ศึก Virtual bank – NaCGA

โดย บสย.จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการตรง ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง ด้วยการนำเดต้ามาวิเคราะห์
 

นายสิทธิกรกล่าวว่า บสย. อยู่ระหว่างออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันรายคนและเคลมรายใบในบางกลุ่ม โดยกลุ่มแรกที่ บสย. จะนำไปศึกษาใช้โมเดลนี้ คือ กลุ่มที่ต้องการเข้าถึงงานประมูลภาครัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่ยังต้องใช้เงินสด ไปสถาบันการเงินเพื่อขอวงเงินในการประมูลภาครัฐ โดยจะเริ่มเห็นได้ในปี 2568 

“เดิมเราค้ำประกันสินเชื่อรายคน เคลมเป็นรายพอร์ต วันนี้เราจะทำ คือ ค้ำประกันรายคนเหมือนเดิม แต่เคลมรายใบ"

การที่จะทำส่วนนี้ได้ เราจะใช้กลไกที่ 2 คือ การพัฒนาเครื่องมือเครดิต สกอริ่ง โมเดล (Credit Scoring) เราเตรียมเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2562 แล้ว โดยเครดิต สกอริ่ง โมเดลนั้น บสย.ใช้ในทุกโครงการตั้งแต่ การค้ำประกันสินเชื่อ PGS10 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ บสย.ได้ไปศึกษาดูงาน สถาบันค้ำประกันสินเชื่อชั้นนำในสาธารณรัฐเกาหลี คือ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) และ Korea Technology Finance Corporation (KOTEC)

เราได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 2 บริษัทดังกล่าว เพื่อยกระดับและพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เสริมสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ ยังต้องการเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนทางการเงินให้กับเอสเอ็มอี รวมทั้งยกระดับเครดิต สกอริ่ง โมเดล โดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น รูปแบบการใช้จ่าย และพฤติกรรมการชำระเงิน มาคำนวณคะแนนเครดิตค้ำประกันสินเชื่อ (Alternative Credit Scoring Model)  

“ส่วนใหญ่การค้ำประกันสินเชื่อเกาหลี จะใช้ข้อมูลเดต้าทางเลือก ไม่ได้ใช้ข้อมูลทางการเงินเพียงอย่างเดียว เช่น ดูลักษณะการจ่ายภาษี การจ่ายค่าน้ำค่าไฟตรงเวลาหรือไม่"

สิ่งเหล่านี้ก็จะมาอยู่ในเครดิตโมเดล ของบสย. ทั้งนี้ เครดิตเชิงโมเดลของ KODIT และ KOTEC น่าสนใจ คือ ได้รวมข้อมูลเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณไว้ด้วยกัน เราจึงมองว่าส่วนนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่บสย. จะเข้าไปดำเนินการด้วย เพราะการเคลมรายใบนั้น เครื่องมือในการวิเคราะห์สินเชื่อเป็นสิ่งที่จำเป็น 

บสย.รื้อระบบค้ำประกันสินเชื่อ สู้ศึก Virtual bank – NaCGA

อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายยกระดับบสย. ไม่ได้ส่งผ่านมา แต่ด้วยทิศทางดิจิทัล ดิสรัปชัน บสย. ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้ำประกัน รูปแบบผลิตภัณฑ์ และช่องทางการเข้าถึง โดยเน้น 4 มิติหลัก ดังนี้ 

  1. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทุกกลุ่ม และพัฒนาช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การปรับโฉมและยกระดับสำนักงานเขตทั่วประเทศ (Branch Reformat) สู่การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี 
  2. ด้านการพัฒนาเครื่องมือโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงในรูปแบบข้อมูลทางเลือก เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ RBP (Risk-Based Pricing) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของเอสเอ็มอี ช่วยผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลงตามระดับความเสี่ยง โดยนำเครื่องมือเครดิต สกอริ่ง มาใช้ในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ 
  3. ด้านการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า ฐานข้อมูลการค้ำประกันสินเชื่อตลอดระยะเวลา 33 ปี มาวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
  4. ด้านการใช้ดิจิทัล ดิสรัปชัน เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาระบบงาน และบริการใหม่ ๆ ทางการเงินบน Virtual Banking

“ทั้ง 4 แกน เป็นสิ่งที่เราเตรียมรองรับ NacGa โดยรูปแบบของ NacGa เป็นการยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมา และสุดท้ายแล้ว บสย. และ NacGa จะเป็นองค์กรเดียวกัน เหมือนการกลายร่าง แต่มีจุดเชื่อมโยงร่วมกัน"

เพราะการค้ำประกันรายพอร์ตของบสย. มีบางรายที่เราไม่สามารถเข้าไปค้ำประกันได้ เช่น กลุ่มน็อนแบงก์ หรือสินเชื่อบุคคลธรรมดา เอสเอ็มอีที่เป็นพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไซแนนซ์ หรือบางรายที่เป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ ที่ต้องการผู้เข้าไปแชร์ฐานทุน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ NacGa จะเข้าไปทำ 

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือน ของปี 2567 บสย. ยังได้เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อกว่า 43,228 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น 76,840 ราย

ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ในสัดส่วนสูงถึง 90% ค้ำประกันเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ที่เหลือ 10% เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ค้ำประกันเฉลี่ย 4.78 ล้านบาทต่อราย และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดค้ำประกันกว่า 45,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2568 นั้น คาดว่าจะมียอดค้ำประกันกว่า 50,000 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,048 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567