ปปง.คาดโทษผู้บริหาร 4 กลุ่มอาชีพ เสี่ยงฟอกเงิน

28 ก.ค. 2567 | 09:11 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2567 | 09:11 น.
1.2 k

ปปง.คาดโทษปรับหลักล้าน จ่อเอาผิดอาญาผู้บริหาร 4 กลุ่มอาชีพ “ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณีเพชรพลอย ทองคำ/เครื่องประดับ นายหน้าหรือตัวแทนซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ ค้าของเก่า ผู้ประกอบการแลกเงินต่างประเทศ ”เหตุเสี่ยงถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน

สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีผู้ประกอบอาชีพบางประเภทไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลในการประกอบธุรกิจ และแม้จะมีหน่วยงานกำกับดูแล แต่ผู้มีหน้าที่รายงานประเภทสถาบันการเงินบางกลุ่มธุรกิจไม่ได้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงมายังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ส่งผลให้ปปง.ไม่มีฐานข้อมูลที่จะใช้กำกับและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายได้

สำนักงานปปง.จึงมีหนังสือไปยังผู้ประกอบการหลายรายที่ปรากฏข้อมูลหรือหลักฐานว่า เป็นผู้มีหน้าที่รายงาน เพื่อให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงมายังปปง. แต่ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ ในการปฏิบัติตามกฎหมายปปง.และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ประกอบการดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ระบาดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่า ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ล่าสุด ปปง.ได้ออกประกาศเรื่อง แนวทางการส่งข้อมูลการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงมายังสำนักงานปปง. เพื่อประโยชน์แก่การกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน” ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

ปปง.คาดโทษผู้บริหาร 4 กลุ่มอาชีพ เสี่ยงฟอกเงิน

สาระสำคัญคือ กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงาน ทั้ง 4 กลุ่มอาชีพต้องส่งข้อมูลการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงต่อสำนักงานปปง. ประกอบด้วย 

  • ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณีเพชรพลอย ทองคำหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณีเพชรพลอยหรือทองคำ
  • ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
  • ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่า ด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า
  • นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่า ด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินประเภทบุคคลรับอนุญาต

กรณีผู้มีหน้าที่รายงานที่ไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดอาจถูกพิจารณาดำเนินการดังนี้ 

  • มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและพนักงานเจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ 2542
  • มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้ ผู้มีหน้าที่รายงานดังกล่าวมาให้ถ้อยคำส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือส่งเอกสารหรือหลักฐานใดๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
  • เข้าตรวจสอบสถานประกอบการของผู้มีหน้าที่รายงาน และหากพบว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจะพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ประกอบด้วย 4 กลุ่มอาชีพคือ

  1. ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณีเพชรพลอย ทองคำหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณีเพชรพลอยหรือทองคำ
  2. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
  3. ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่า ด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า
  4. นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินประเภทบุคคลรับอนุญาต

นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและบริการทางการเงิน (TAFEXS) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ผ่านมาปปง.มีการออกหนังสือถึงผู้มีหน้าที่รายงานแล้ว แต่ปรากฎกว่า ผู้มีหน้าที่รายงานบางรายที่ได้รับหนังสือจากปปง. แล้วไม่รายงานตัวหรือลงทะเบียน

นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและบริการทางการเงิน

ในส่วนของ TAFEXSจะจัดอบรมให้ความรู้และสอบความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน การรายงานตามประกาศฉบับดังกล่าว การให้ความรู้เกี่ยวกับทุจริตออนไลน์ โดยตำรวจไซเบอร์และเจ้าหน้าที่สมาคมสอนการดูเงินจริงหรือเงินปลอมเพื่อประโยชน์ผู้มีหน้าที่รายงานและการกำกับและตรวจสอบของสำนักงานปปง.

“ปปง.จะมีกรอบเวลาให้ผู้มีหน้าที่รายงานลงทะเบียนภายใน 30 วันหรือภายใน 5 กรกฎาคม 2567 จากนี้อีก 30 วันให้รายงานตัวเป็นรอบที่2 และรอบที่3 ถ้าพบว่า ผู้มีหน้าที่รายงานยังไม่ทำอะไร ปปง.อาจจะมีการกล่าวโทษอาญากับผู้บริหาร”

ในทางปฎิบัติ ทั้งปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ตำรวจไซเบอร์และ TAFEXS ได้จัดอบรมสัมมนา เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายปปง. ธปท.รวมถึงอัพเดตภัยไซเบอร์ต่างๆโดย TAFEXS จะมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้และสอนเกี่ยวกับเงินจริง เงินปลอม ซึ่งครอบคลุมสกุลเงินต่างๆประมาณ 30 สกุลเงินด้วย โดยจะสัมมนาในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดภูเก็ต จากนี้ตั้งใจจะจัดอบรมต่อเนื่องในพื้นที่พัทยา ขอนแก่นและหาดใหญ่

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,013  วันที่  28 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567