การปรับตัวของธนาคารกลางญี่ปุ่น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

12 ก.ค. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 16:01 น.

การปรับตัวของธนาคารกลางญี่ปุ่น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก :คอลัมน์มันนี่ดีไอวาย โดย นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

หากเรานึกถึงประเทศหนึ่งที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงของทิศทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 คงหนีไม่พ้น “ประเทศญี่ปุ่น” ที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญขึ้น โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน จากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยการคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำหรือติดลบมาเป็นเวลานานเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดขึ้นโดยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินฟ้อในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น  

แม้ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ เราพบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นก็ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังนัก เนื่องจากญี่ปุ่นเองยังคงเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนผู้สูงอายุมาก การขาดแคลนแรงงาน หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกิดวิกฤต COVID-19

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว สวนทางกับธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ เมื่อส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยมีมากขึ้นเรื่อยๆ นักลงทุนจึงเทขายหลักทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นและหันไปลงทุนในประเทศที่ได้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 

 

โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.25-5.5% เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในประเทศ ส่งให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากในรอบ 34 ปี แตะระดับ 106 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออ่อนค่าลงประมาณ 14% เมื่อเทียบต้นปี

นอกจากประเทศญี่ปุ่นจะเผชิญกับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากแล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศญี่ปุ่นยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากค่าแรงและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารญี่ปุ่นจึงตัดสินใจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 17 ปี จากเดิม -0.1% มาเป็น 0 - 0.1% ในรอบการประชุมเดือนมีนาคม 2567 พร้อมกับยกเลิกนโยบาย Yield Curve Control (YCC) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2559 

ซึ่งเป็นนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายที่ธนาคารกลางใช้เป็นเครื่องมือควบคุมอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำได้ ด้วยการควบคุมต้นทุนการกู้ยืมไม่ให้สูงเกินไปในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้ได้ตามกรอบเป้าหมาย 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนผ่านนโยบายทางการเงินของประเทศ ซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางส่วนใหญ่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในตลาด

ในการประชุมครั้งล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น ในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ยังคงมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0 - 0.1% เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น พร้อมส่งสัญญานว่าจะเปิดเผยแผนการลดการเข้าซื้อพันธบัตรในรอบการประชุมเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติในอนาคต 

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนในพันธบัตรญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ นับว่ายังมีทั้งโอกาสและความท้าทาย เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังเกินกรอบเป้าหมายที่ 2% และค่าเงินเยนยังมีทิศทางอ่อนค่า สนับสนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและลดการเข้าซื้อพันธบัตรในการประชุมครั้งถัดไป แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำที่ 0 - 0.1% และธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะปรับนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวัง

ดังนั้น การปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจึงจะมีผลกระทบไม่มาก และหากญี่ปุ่นสามารถรักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ การลงทุนในพันธบัตรญี่ปุ่นยังเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและน่าสนใจสำหรับนักลงทุน

 อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องติดตามทิศทางค่าเงินเยน ภายหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยหากค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่า เราอาจจะเห็นธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงมากขึ้นเพื่อพยุงค่าเงินไว้ ซึ่งการแทรกแซงดังกล่าวอาจช่วยประคับประคองสถานการณ์ได้ในระยะสั้น แต่อาจไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว