ถอดรหัส คดีทุจริตหุ้น STARK กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ใครบ้างเสียหาย

23 มิ.ย. 2567 | 18:11 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2567 | 18:31 น.
1.6 k

สรุปผลกระทบ ความเสียหายกรณีหุ้น STARK เกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท หลัง DSI รวบตัว “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” หลังหนีออกนอกประเทศไปดูไบ

คดีหุ้น STARK ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดหุ้น ตลาดทุนไทยอย่างมาก

คดีทุจริตมูลค่ามหาศาลของ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนกว่า 14,778 ล้านบาท จากการตกแต่งบัญชีและฉ้อโกงประชาชน มีตัวละครสำคัญในคดีนี้คือ "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตประธาน STARK ผู้ถูกออกหมายจับในข้อหาร้ายแรงหลายกระทง รวมถึงการตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชน ยักยอกทรัพย์ และฟอกเงิน เหตุการณ์พลิกผันเมื่อนายชนินทร์หลบหนีออกนอกประเทศไปยังดูไบ ก่อนจะถูกจับกุมตัวได้ในเวลาต่อมา

ล่าสุดวันนี้ 23 มิถุนายน 2567 นายจักรพงศ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขานุการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมผู้ต้องหาในคดีหุ้น STARK ณ สนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะที่ นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี  ทนายความของนายชนินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงแล้ว นายชนินทร์ ไม่ได้อยากหลบหนี ตั้งใจอยากจะกลับบ้าน และ ยืนยันว่าน ายชนินทร์ ไม่ได้ทำความผิดอะไร

 

นอกจาก นายชนินทร์ แล้ว ยังมีผู้ถูกกล่าวหาอีก 6 ราย ทั้งบุคคลและนิติบุคคล รวมถึงบริษัท STARK เอง และ บริษัทในเครือ พร้อมกรรมการผู้มีอำนาจ สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการทุจริตในครั้งนี้

รายชื่อบุคคล นิติบุคคลที่ถูกสั่งฟ้อง

คดีทุจริต STARK  ขณะนี้ผู้ต้องหาที่ถูกสั่งฟ้องไปแล้วหลายราย (ในจำนวนผู้ต้องหามี 5 รายเป็นนิติบุคคล ) เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และ ฐานฉ้อโกงประชาชนฯ ข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฟอกเงิน มูลค่าของความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 

  1. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
  2. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 
  3. นางสาวยสบวร อำมฤต
  4. บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ และนายปริญญา จั่นสัญจัย กรรมการผู้มีอำนาจ
  5. บริษัท เฟิลปส์ คอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ
  6. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด โดยนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการผู้มีอำนาจ
  7. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ 
  8. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยนายกิจจา คล้ายวิมติ 
  9. นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต 
  10. น.ส.นาตยา ปราบเพชร 

จากคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ พบว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 15,000 ล้านบาท โดยพนักงานอัยการได้ขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่งให้จำเลย ร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงไป จำนวนกว่า14,778 ล้านบาท ที่ยังไม่ใด้คืนให้แก่ผู้ถือหุ้น 4,692ราย และผู้ลงทุนสถาบันจำนวน 12 ราย ผู้เสียหาย รวมทั้งให้ร่วมกันคืนเงินที่ยักยอกไปจำนวน 741,172,250 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ บริษัทสตาร์คฯ 

กรณีการทุจริต STARK ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างกับนักลงทุน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาที่มีต่อตลาดทุนไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ลงทุนรายบุคคลที่มีภารกิจในการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่มต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 เพื่อยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท อดิสร สงขลา จำกัด, บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, นายชนินทร์ เย็นสุดใจ, นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ, นายชินวัฒน์ อัศวโภคี, นายประกรณ์ เมฆจำเริญ และนายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม รวม 10 ราย มูลค่าความเสียหาย ความเสียหายประมาณ 4,063 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มผู้เสียหายกว่า 4,700 ราย รวมทั้งนักลงทุนสถาบัน กำลังเรียกร้องให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงไปทั้งหมด

ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ STARK ชดเชยเงินกว่า 5,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย จากการผิดนัดชำระหุ้นกู้หลายชุด

คดี STARK ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับตลาดทุนไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และ การสร้างกลไกป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนและรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยในระยะยาว

ท้ายที่สุด คดีหุ้น STARK นี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน และศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ใดๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้ในอนาคต​​