กูรูเตือนดอกเบี้ยต่ำ หนุนเก็งกำไรค่าเงิน 

07 มิ.ย. 2567 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2567 | 15:45 น.

เงินบาทอ่อนค่าแล้ว 6.4% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี  ตามหลังเยนที่อ่อนค่าถึง 9.4% กูรูชี้ผลจากเยน แครี่เทรด เหตุดอกเบี้ยต่ำ สามารถนำไปเก็งกำไรกับทุกสกุลเงินได้ มองทิศทางเงินบาท โอกาสอ่อนค่า จับตาดอกเบี้ยนโยบาย หนุนเก็งกำไรค่าเงิน

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 เงินบาท “อ่อนค่า” แล้ว 6.4% เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศอื่นๆ รองจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึง 9.4% ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ 1.31 แสนล้านบาทต่อเนื่องจากปีก่อนทั้งปีที่ขายออกสุทธิ 3.36 แสนล้านบาท  

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองไปข้างหน้าระยะสั้น 3เดือนอาจจะเห็นเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน เพราะต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวมากขึ้นหรือไม่และโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะปรับลดดอกเบี้ยกี่ครั้งในปีนี้

"หากตลาดมั่นใจว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยแน่และเกินกว่า 2 ครั้ง อาจจะเห็นสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ แต่หากเฟดชะลอการลดดอกเบี้ยออกไปเป็นเดือนก.ย.อาจจะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหว 35.50 บาทสำหรับช่วงสิ้นปี"นายพูนกล่าว 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย  

ทั้งนี้ช่วง 4 เดือน(ตั้งแต่ม.ค.-เม.ย.) เงินบาทอ่อนค่าลงไปทดสอบที่ 37.25 บาทตามที่ตลาดลดความ
คาดหวังเฟดจะลดดอกเบี้ยเหลือไม่ถึง 2 ครั้งจากเดิมมองกันที่ 6 ครั้ง ประกอบกับปัญหาภายใน ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไม่ชัดเจน มีแรงขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง

ส่วนช่วงที่เหลือ 3เดือนข้างหน้า ทิศทางค่าเงินบาทขึ้นอยู่กับภาพของเศรษฐกิจสหรัฐกับการตัดสินใจของเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงกี่ครั้ง รวมถึงการเมืองไทยและทิศทางการส่งออกไทยจะเป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เท่าที่ติดตามการปรับคาดการณ์ใหม่ลดการเติบโตของการส่งออกเหลือ 0.5% 

“ส่วนตัวมองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ในวันที่ 12 มิถุนายน กนง.อาจจะปรับประมาณการตัวเลขส่งออกจากปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นหลัก โดยไม่น่าจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย แต่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกคือ สงครามทางการค้าอาจจะเป็นปัจจัยให้พิจารณาลดดอกเบี้ย เพราะส่งออกไทยและการผลิตมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว” นายพูนกล่าว

การเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่างๆ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินเยนโอกาสแกว่งตัวช่วงสั้น อาจจะเคลื่อนไหว 155-156 ดอลลาร์/เยน อาจจะบวกลบบ้าง ขึ้นกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะประชุมในเดือนมิถุนายนนี้ว่า BOJ ส่งสัญญาณพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ หรือถ้าจะปรับใช้นโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นอาจชะลอการอ่อนค่าบ้าง แต่หากเดือนกรกฎาคม BOJ มีโอกาสจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจช่วยให้เห็นเงินเยนทยอยแข็งค่าบ้าง 

“เงินเยนอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นช่วง Carry Trade มากกว่า โดยอาศัยดอกเบี้ยต่ำไปเก็งกำไรกับทุกสกุลเงิน ซึ่งปีนี้กลยุทธ์ Carry Trade กำไรดี โดยการใช้เงินเยนเป็นตัวหลักในการไป Funding กับบางสกุลเงินและแนวโน้มโอกาสทำ Carry Trade ต่อไปได้ ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงและค่าเงินยังอ่อนค่า” 

ขณะที่ฝั่งเอเซียและไทยแต่ละประเทศไม่กล้าขยับ เพราะถ้าหากปรับลดดอกเบี้ยลง จะทำให้ส่วนต่างจะกว้าง คนทำ Carry Trade รู้สึกว่า ทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบ Carry Return ค่อนข้างสูงและดีกว่าการลงทุนในหุ้น ส่วนสกุลเงินที่ทำแล้วดี เช่น รูปีเยนจะได้กำไร 13% หรือเงินวอน เปโซ รูเปียห์ และ ไต้หวันประมาณ 5-6% โดยเริ่มเห็นสัญญาณ Carry Trade อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อนแล้ว 

สอดคล้องกับดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้ม Carry Trade ยังคงทำได้ปกติต่อเนื่องจากปลายปีก่อน แต่ผลตอบแทนอาจไม่ดีมาก จึงต้องระมัดระวังสูง เพราะขึ้นกับนโยบายการเงินเป็นหลัก แต่ Carry Trade จะทำได้เมื่อสกุลเงินที่ไปแครี่มีเสถียรภาพ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

ที่ผ่านมาจึงเห็น เยน Carry Trade เป็นหลัก เพราะต้นทุนถูก สามารถฟันด์ดิ้งกับสกุลเงินอินโดนีเซีย อินเดีย หรือแมกซิโก ซึ่งอัตราดอกเบี้ย 6-7% แต่ระยะหลัง ถ้าเริ่มเห็นเงินเยนแข็งค่า สะท้อนการเริ่มลดการ Carry Trade ลง สาเหตุจากสกุลเงินที่ไปแครี่เทรดอ่อนค่ามาก ทำให้ไม่คุ้มกับอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ 

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทช่วงที่เหลือขึ้นกับ 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. ภาพภาวะเศรษฐกิจ ไม่น่าจะเติบโตมากนักและมีเงินไหลออก ทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในขา “แข็งค่ายาก” จาก 36.50 บาทโอกาสจะอ่อนไปที่ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระยะสั้นไทยยังมีจุดแข็งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากราคาน้ำมันปรับตัวลง หากราคาน้ำมันลดลงแรง เงินบาทอาจจะแข็งค่าที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ 
  2. ในแง่นโยบายการเงิน ทั้งเฟดและกนง.ดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดและกำลังจะผ่อนคลาย ซึ่งใครมีปัญหาเศรษฐกิจแล้วมีนโยบายตอบรับในเชิงการลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่ากันมีโอกาสจะเห็นเงินบาทอ่อนค่า
  3. ปัจจัยการเมือง ถ้าการเมืองต่างประเทศช่วงระยะกลาง-ระยะยาวที่จะเริ่มมีการเลือกตั้งของสหรัฐ ซึ่งหากดูตามโพลล์ โดนัล ทรัมป์มีโอกาสจะชนะ แต่ถ้าดูตาม Market Reaction คือ คนไม่ค่อยรับข่าวเรื่องนี้เท่าไร เพราะโดนัล ทรัมป์ยังมีคดีอยู่ 

ในแง่ปัจจัยทางการเมืองไทย ตอนนี้ควรจะมี Positive Effect ออกมาบ้าง จากความคาดหวังของประชาชนค่อนข้างสูง โดย Positive Effect ที่ตลาดอยากเห็นอย่างแรกคือ  นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ คือเรื่องการจัดเก็บภาษีหรือรายได้ ขณะที่รัฐบาลมีรายจ่ายจากการแจกเงิน ซึ่งฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามายากมาก  เพราะทุกคนมองภาพการใช้เงิน จึงควรจะมีการปรับในเชิงโครงสร้างให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น หรือนโยบายจะแจกเงิน(ดิจิทัล วอลเล็ต) ทำให้เร็วขึ้นกว่าเดิม    

“โดยรวมการเมืองต่างประเทศกดดันให้เงินบาทอ่อนค่า และการเมืองในประเทศทำให้แข็งค่ายาก เพราะโฟลว์ไม่ไหลเข้าและเศรษฐกิจไทยไม่ดีนัก มองไตรมาส 2-3 เงินบาทมีโอกาสอยู่ในแดนอ่อนค่าต่อ มองกรอบที่ 35.50-37.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ”ดร.จิติพลกล่าว  

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,999 วันที่ 9 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567