กางพอร์ตประกันสังคม 2.5 ล้านล้าน ไตรมาส 1/67 ผลตอบแทน 1.42 หมื่นล้าน ลงทุนอะไรบ้าง

27 พ.ค. 2567 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2567 | 13:57 น.

อัปเดตพอร์ตลงทุนประกันสังคม 2.5 ล้านล้านบาท ไตรมาส 1/67 รับผลตอบแทน 14,175 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 10.16% พบกระจายลงทุนไปต่างประเทศสัดส่วนเฉียด 30% ขณะที่ผลตอบแทนรับจากเงินปันผลและการขายหุ้นลดลงกว่า 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

"ประกันสังคม" เป็นการออมเงินภาคบังคับที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยมีหลักประกันในการใช้ชีวิต และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณ โดยสิทธิประกันสังคมได้ให้ความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย , กรณีคลอดบุตร ,กรณีทุพพลภาพ , กรณีเสียชีวิต , กรณีสงเคราะห์บุตร , กรณีชราภาพ และ กรณีว่างงาน  

ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม  ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกันตนรวมทุกมาตรา (ม.33,ม.39 และม,40 ) ทั้งสิ้น 24,602,082 คน และมีเงินลงทุนรวมของกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ทั้งสิ้น 2,508,729 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินจาก 2 ส่วนหลัก คือ เงินสมทบสะสมจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล สะสมจำนวน 1,560,697 ล้านบาท คิดเป็น 62.21% และเงินผลประโยชน์สะสมที่ไดรับจากการลงทุนจำนวน 948,032 ล้านบาท คิดเป็น 37.79%  

 

กางพอร์ตประกันสังคม 2.5 ล้านล้าน ไตรมาส 1/67 ผลตอบแทน 1.42 หมื่นล้าน ลงทุนอะไรบ้าง

 

กระจายลงทุนตปท.เพิ่มเฉียด 30%

ทั้งนี้เงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม 2,508,729  ล้านบาท มีการกระจายลงทุนในประเทศจำนวน 1,758,382 ล้านบาท คิดเป็น 70.09% และต่างประเทศ จำนวน 750,347 ล้านบาท คิดเป็น 29.91% (ตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคม ฉบับที่ 7 กำหนดให้ลงทุนในต่างประเทศได้สูงสุดไม่เกิน 35.30% ของเงินกองทุน)

 
 

โดยเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จำนวน 1,795,782 ล้านบาท คิดเป็น 71.58% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 712,947 ล้านบาท คิดเป็น  28.42% รายละเอียดการลงทุนดังนี้

การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง  1,795,782 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • พันธบัตรรัฐบาล ธปท.รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน มูลค่า 1,348,928 ล้านบาท คิดเป็น 53.77%
  • หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือ มูลค่า 303,262 ล้านบาท คิดเป็น 12.09%
  • หุ้นกู้เอกชนหรือ securitized debt ที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือ 80,657 ล้านบาท คิดเป็น 3.22%
  • เงินฝากมูลค่า 62,935 ล้านบาท คิดเป็น 2.51%

อ่านเพิ่ม : ส่องมูลค่าพอร์ต"ประกันสังคม"ลงทุนใน 10 หุ้นบิ๊กแคป Q1/67 ตัวไหน เพิ่ม-ลด

ส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 712,947 ล้านบาท คิดเป็น 28.42% ประกอบด้วย 

  • หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ มูลค่า 339,390 ล้านบาท คิดเป็น 13.53%
  • ตราสารทุนไทยหรือหุ้นไทย มูลค่า 230,518 ล้านบาท คิดเป็น 9.19%
  • หน่วยลงทุนอสังหา,กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน,ทองคำ มูลค่ารวม 108,092 ล้านบาท คิดเป็น 4.31%
  • พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่ กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน มูลค่า 1,889 ล้านบาท คิดเป็น 0.07%

 

กางพอร์ตประกันสังคม 2.5 ล้านล้าน ไตรมาส 1/67 ผลตอบแทน 1.42 หมื่นล้าน ลงทุนอะไรบ้าง


 

เงินลงทุนกว่า 2.5 ล้านล้านบาท "ประกันสังคม" ได้ผลตอบแทน ?

ฐานเศรษฐกิจ ได้รวบรวมผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในไตรมาสแรกของปี 2567 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (Q1/66 ) พบว่าในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนทั้งสิ้น 14,175 ล้านบาท ลดลง 1,604 ล้านบาท หรือลดลง 10.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือไตรมาสแรกปี 2566 ที่มีผลตอบแทน 15,779 ล้านบาท  และเมื่อเทียบอัตราผลตอบแทนไตรมาสแรกปี 67 อยู่ที่  0.57%ขณะที่ไตรมาสแรกปี 66 รับอยู่ที่ 0.68%  โดยผลตอบแทนที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลและกำไรขาดทุนจากการขายตราสารทุนหรือหุ้น โดยผลตอบแทนลดลง 34.33% จาก  6,071 ล้านบาท มาเป็น 3,987 ล้านบาท ในไตรมาสแรกปีนี้ รายละเอียดดังนี้

 

กางพอร์ตประกันสังคม 2.5 ล้านล้าน ไตรมาส 1/67 ผลตอบแทน 1.42 หมื่นล้าน ลงทุนอะไรบ้าง

รอบ 3 เดือนแรกของปีนี้  (ณ วันที่ 31 มี.ค.67) กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น 14,175 ล้านบาทคิดเป็น 0.57% ของเงินลงทุนรวมของกองทุนประกันสังคม ( 2,508,729 ล้านบาท) ประกอบด้วย 

  • ดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้จำนวน 10,188 ล้านบาท 
  • เงินปันผลรับและกำไรขาดทุนจากการขายตราสารทุน จำนวน 3,987 ล้านบาท

ส่วนไตรมาสแรกปี 2566 กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้ว ( ณ วันที่ 31 มี.ค.66 ) ทั้งสิ้น 15,779 ล้านบาท คิดเป็น 0.68% ของเงินกองทุนประกันสังคม ( 2,314,330 ล้านบาท ) ประกอบด้วย 

  • ดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้จำนวน 9,708 ล้านบาท 
  • เงินปันผลรับและกำไรขาดทุนจากการขายตราสารทุน จำนวน 6,071 ล้านบาท

อนึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการชุดต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมกำหนดแนวทางหลักเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ประกาศไว้ ก็คือการพัฒนาด้านการลงทุนของกองทุนประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายสร้างผลตอบแทนการลงทุน จาก 2.4% เป็น 5% หรือเติบโตจากปีละ 60,000 ล้านบาท เป็น 120,000 ล้านบาท ไต่ระดับขึ้นตั้งแต่ปี 2567-2570