FETCO หั่นเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 67 เหลือ 1,535 จุด

08 พ.ค. 2567 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 17:37 น.

FETCO ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนเม.ย.67 มองธนาคารลดดอกเบี้ย ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนต่างๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่หดตัวลงมามาก พร้อมหั่นเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยลง 1,535 จุด และสิ้นไตรมาส 2/67 ที่ 1,447 จุด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนเมษายน 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 19-30 เม.ย.67) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.67) อยู่ที่ระดับ 92.29 ซึ่งยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ในส่วนความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์นั้น อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION) ด้านปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ผลสำรวจ ณ เดือนเมษายน 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 28.9% มาอยู่ที่ระดับ 76.47 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 31.9% มาอยู่ที่ระดับ 77.78 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 13.1% มาอยู่ที่ระดับ 123.08 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัว อยู่ที่ระดับ 100.00

ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 SET Index แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบและมีมูลค่าซื้อขายเบาบางก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว โดยในช่วงกลางเดือน SET Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,400 จุด ได้แรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ก่อนที่จะปรับตัวลงแรงหลังเทศกาลสงกรานต์ จากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในอิสราเอลและอิหร่านที่ยังคงไม่สามารถหาข้อยุติได้

และผลประมาณการตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1/2567 ขยายตัวที่ 1.6% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.4% และเป็นการชะลอตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดย SET Index ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 ปิดที่ 1,367.95 ปรับตัวลดลง 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ 45,435 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิกว่า 3,787 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 65,075 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกายังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในการคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป รวมถึงต้องจับตามองสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอน ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ มาตรการภาครัฐในกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อประคองเศรษฐกิจ ความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ล่าสุดช่วงเดือนเมษายน 2567 สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ ปี 2567 ใหม่ เหลือที่ 1,535 จุด จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,590 จุด และคาดสิ้นไตรมาส 2/2567 นี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับ 1,447 จุด อย่างไรก็ดี คาดว่าบรรยากกาศการลงทุนตลาดต่างๆ ครึ่งหลังปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้น ตามธนาคารกลางแต่ละแห่งมีทิศทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้เคียงกัน นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะฟื้นตัวรอบใหม่

แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดช้ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะเศรษฐกิจยังดี เงินเฟ้อปรับลงยาก ทำให้เฟดมีความจำเป็นคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานขึ้นกว่าคาด อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเฟ้อ และทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะโตได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากปีนี้ภาพรวมหลายฝ่ายมองเศรษฐกิจโตประมาณ 2.7% จากเดิมที่คาด 3-4%

ขณะที่บรรยากาศหุ้นไทยเริ่มทรงตัวได้ดีมากขึ้น มองว่าทิศทางเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) มองว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนต่างๆ ดีขึ้น ซึ่งหุ้นไทยปรับลดลงมากแล้วจะเป็นตลาดที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับตลาดอื่่นๆ อย่าง แนสแด็ก ทองคำ คริปโทเคอร์เรนซี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้ว