ต่างชาติขนเงินออก ฉุดบาทอ่อนแตะ 37.25

27 เม.ย. 2567 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2567 | 08:38 น.
2.5 k

ต่างชาติขนเงินออกทั้งตลาดหุ้น-บอนด์ ฉุดบาทอ่อนรอบ 6 เดือน ทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย 4 เดือน เงินทุนไหลออกแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท กรุงไทยชี้มีโอกาสแตะ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ จากฤดูกาลจ่ายปันผลต่างชาติ

แนวโน้มการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้นานกว่าเดิมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และความกังวลจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก ท่ามกลางแรงหนุนของการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้เงินบาทไทยอ่อนค่าลงมากสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 มาอยู่ที่ 37.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐช่วงเช้าวันที่ 23 เมษายน 2567

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย สาเหตุมาจากปัจจัยเศรษฐกิจไทย เฟดชะลอปรับลดดอกเบี้ย และแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงจากความกังวลจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ยอดคงค้างการถือครองพันธบัตร(บอนด์) ไทยของนักลงทุนต่างชาติลดลง 68,101 ล้านบาทจากสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 937,528 ล้านบาทลงมาอยู่ที่ 869,427 ล้านบาท ณ 19 เมษายน 2567 ซึ่งทั้งปี 2566 เองยอดการถือครองบอนด์ไทยลดลงกว่า 140,784 แสนล้านบาทเช่นกัน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็พบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 70,066 ล้านบาทจากทั้งปีก่อนขายสุทธิ 192,490 ล้านบาท

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น ปัจจัยหลักมาจากดอลลาร์แข็งค่าบวกกับภาวะเศรษฐกิจของไทย แต่หากช่วงที่เหลือเศรษฐกิจไทยยังเป็นความคาดหวังว่า จะทยอยฟื้นตัว ซึ่งมีโอกาสจะเห็นเงินบาทอ่อนค่ากว่า 37 บาทต่อดอลลาร์ จากสัญญาณความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์และทิศทางเฟดไม่น่าจะลดดอกเบี้ยเร็ว แต่ตัวแปรสำคัญที่จะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าน้อยลงคือ ราคาทองคำโลก หากราคาทองคำโลกฟื้นตัวกลับอาจทำให้แรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินบาทช้าลง

การเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่างๆ

 

ส่วนช่วงต่อไปยังต้องจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย ซึ่งตลาดรอจังหวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ซึ่งเป็นความหวังว่า หากเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวกลับมาอาจจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาพเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ตัวแปรสำคัญคือ แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ถ้าเฟดชะลอการลดดอกเบี้ยออกไปหรือจังหวะการลดดอกเบี้ยไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว เพราะตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้า ซึ่งทั้งปี เฟดอาจจะปรับลดดอกเบี้ยไม่ถึง 3 ครั้ง ก็จะมีผลต่อทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทอ่อนค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค แต่เงินบาทอาจจะอ่อนค่าแรง ส่วนหนึ่งมาเงินดอลลาร์แข็งค่าบวกกับสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจากความกังวลความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่หลังจากสถานการณ์ไม่รุนแรง คนจึงหันมาถือเงินดอลลาร์ต่อ ส่งให้เงินบาทอ่อนค่าแรงกว่าสกุลเงินเพื่อนบ้าน  

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ไม่รุนแรง แต่คนยังหันมาถือเงินดอลลาร์ต่อ ส่งให้เงินบาทอ่อนค่าแรงกว่าสกุลเงินเพื่อนบ้าน ด้วยปัจจัยความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ยังเพิ่มขึ้น และโอกาสเฟดจะลดดอกเบี้ยในปีนี้มีแนวโน้มลดลง

"จริงๆ ก็เป็นปัจจัยต่อเนื่องทั้งเรื่อง Bond Yield เฟดชะลอลดดอกเบี้ย จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยเกือบจะกว้างสุดในภูมิภาค ประเด็นการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และเศรษฐกิจโลกผันผวนจากความกังวลในตะวันออกกลางเกิดการขายสินทรัพย์เสี่ยง แต่คนก็หันมาถือดอลลาร์สหรัฐต่อ"นายอมรเทพกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือเดือนพฤษภาคม เพราะมี 2 ปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าคือ ฤดูการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเงินจะไหลออก มีโอกาสขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ดีต่อค่าเงินบาทอยู่แล้ว ทั้งเงินทุนเคลื่อนย้าย การเทขายทั้งหุ้นและบอนด์  ระยะสั้นค่าเงินบาทน่า จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ไม่เร่งลดดอกเบี้ยก่อนเฟด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทภายในสัปดาห์นี้มีโอกาสแตะ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ เพราะยังมีการจ่ายเงินปันผลนักลงทุนต่างชาติ ส่วนค่าเงินบาทจะไปไกลต่อกว่านี้หรือไม่ขึ้นกับความกังวลดอกเบี้ยของเฟด แต่ปลายปีกรุงไทยยังมองเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.50-35 บาท

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

ส่วนแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วงที่เหลือค่อนข้างจะนิ่ง เพราะมีการทยอยขายออกค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่บอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปีปรับตัวขึ้นมาทะลุ 4.6% ทำให้เกิดการขายบอนด์ทั่วโลกรวมทั้งไทย (เป็นการขายสุทธิบอนด์ระยะยาว) ประกอบกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยกดดัน และมีการปรับมุมมองอาจจะลดดอกเบี้ยน้อยหรือไม่ปรับลด และทำให้คนปรับระดับการลงทุนใหม่

สำหรับตลาดหุ้นส่วนใหญ่เป็นการขายสุทธิพอสมควร หน้าตักของต่างชาติคงเหลือไม่มาก เพราะนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ลงทุนในหุ้นไทยมากอยู่แล้ว อีกทั้งผลประกอบการของไทยออกมาดีขึ้น เห็นได้จากนักวิเคราะห์ มีการปรับคาดการณ์ Set Index หรือคาดการณ์ผลกำไรดีขึ้น ซึ่งทิศทางตลาดหุ้นมีทิศทางบวก แต่นักลงทุนอาจจะรอให้ธีมดอลลาร์หรือเงินบาทนิ่งก่อน เพราะ SET INDEX ไม่น่าจะไปไหนไกลแล้ว อาจจะกลับมาซื้อในลักษณะซื้อเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ เช่น ธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ดิจิทัล วอลเลต หรือท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นการรอจังหวะเข้าซื้อ 

“ตลาดหุ้นปีนี้ ฝรั่งเองก็มองที่ 1,500จุด สอดคล้องมุมมองของกรุงไทยที่มองตั้งแต่ต้นปี แต่มีโอกาสอัพไซด์ ซึ่งการที่ต่างชาติขายสุทธิมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย  มาตรการรัฐ และ Sentiment ทั้งโลกไม่ดีคือ จังหวะคนไปเล่นธีมAI  คนก็ไปซื้อตลาดอื่นไม่ใช่บ้านเรา แต่หลังจากนี้หากเศรษฐกิจไทยเป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลผ่านงบประมาณ หรือมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต แนวโน้มครึ่งหลังตลาดหุ้นน่าจะมีนักลงทุนกลับมา และเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยปลายเดือนก.ค. ซึ่งตลาดจะเปลี่ยนวิวอีกรอบและดอลลาร์จะทยอยอ่อนค่าบ้างและจังหวะนั้นเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น”นายพูนกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนตัวมองปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยลบ แต่ที่ต้องระวังคือ การเลือกตั้งในสหรัฐที่ โดนัล ทรัมป์อาจจะกลับมา ซึ่งทำให้ตลาดจะผันผวน ส่วนปัจจัยบวกได้แก่ 1.แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 2.มาตรการดิจิทัล วอลเลต มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนและเอเชียน่าจะฟื้นได้

 แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินให้ความเห็นว่า มาตรการดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท ซึ่งเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงทิศทางการเมืองไทยในประเทศไทย กรณีที่รัฐบาลจะออกพันธบัตรระดมทุนอาจจะกดดันภาวะตลาดและเป็นความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการคลัง ซึ่งตลาดจับตาผลกระทบต่อการจัดอันดับหรือเรตติ้งของประเทศ ซึ่งหากการคลังกู้จำนวนมาก จะเป็นปัจจัยกดดันต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,986 วันที่ 25 - 27 เมษายน พ.ศ. 2567