นักเศรษฐศาสตร์ ลุ้น กนง. ตัดสินใจหั่นดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ

10 เม.ย. 2567 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 09:12 น.
904

รวมความเห็นนักเศรษฐศาสตร์การเงิน ลุ้นผลประชุมนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันนี้ พิจารณาดอกเบี้ยนโยบาย มองความน่าจะเป็นตัดสินใจหั่นดอกเบี้ย พยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567

วันนี้ (10 เมษายน 2567) มีวาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการเงิน ทุกสายตาจับจ้องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2567 เพื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยนโนบาย หลังจากการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง โดย 5 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

ดร.ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการ Business Risk and Macro Research ศูนย์วิจัย Krungthai Compass มองว่า ตอนนี้มีหลายปัจจัยสนับสนุนให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน หรือ โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่คาดว่าจะได้ใช้เร็วที่สุดคือสิ้นปี 2567 ทำให้กว่าจะเห็นผลทางเศรษฐกิจคือช่วงต้นปี 2568  

รวมไปถึงความล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ ที่แม้จะผ่านการพิจารณาจาก 2 สภาแล้ว ยังอยู่ระหว่างรอประกาศบังคับใช้ แต่ก็ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งหมดในเวลาอันสั้น ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในข่วงนี้จะเป็นตัวช่วยประคองเศรษฐกิจให้เดินต่อได้ โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ส่งสัญญาณมาแล้วว่าอาจจะมีการลดดอกเบี้ยในเวลาไม่นานนี้

ดร.ฉมาดนัย กล่าวว่า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้จริง จะส่งผลกระทบในระยะสั้นแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนไหลออก ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและเงินทุนในภาพรวม และจะกระทบไปจนถึงเงินบาทอ่อนค่าลงได้ แต่ในระยะยาวมองว่า การลดดอกเบี้ยเป็นการปรับสมดุลของเศรษฐกิจไทยที่ปัจจุบันไม่มีตัวขับเคลื่อนหลักมากนัก เพราะภาพของทิศทางดอกเบี้ยโลกยังไม่ค่อยชัด มีโอกาสสูงที่จะเป็นดอกเบี้ยขาลงในข่วงครึ่งปีหลัง

ในทางกลับกันกรณีที่ไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะเกิดคำถามกับทาง ธปท. ว่า เพราะเหตุใด ซึ่งต้องจับตาดูเหตุผลรองรับหากเกิดกรณีนี้ขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่มีอะไรมากระตุ้นได้ดีเท่าที่ควร เชื่อว่าความหนักใจขณะนี้ตกไปอยู่ที่ กนง. ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าหนทางใด ส่งผลเสียมากกว่ากัน

ด้าน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประเมินว่า กนง. น่าจะมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก เป็นผลมาจากงบประมาณภาครัฐยังไม่บังคับใช้ รวมถึงภาคการส่งออกที่เติบโตช้า และการบริโภคภายในประเทศยังชะลอตัว ซึ่งน่าจะลากยาวไปจนถึงไตรมาสที่ 2 

“การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อปรับสมดุลเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตที่ไม่ถึง 3% ต่อปี แต่ก็มีความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออก หากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจริง และอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่า จนอาจซ้ำรอยกับที่สวิตเซอร์แลนด์กำลังเผชิญอยู่ นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายสินทรัพย์ไทย อย่างหุ้น และ บอนด์ ทำให้สินทรัพย์ไทยมีความน่าสนใจลดลง แต่ในอีกมุมก็ยังคงยืนยันว่า การปรับดอกเบี้ย เพื่อเป็นตามภาวะเศรษฐกิจ”

นายอมรเทพ มองว่า ธปท.น่าจะปรับลดดอกเบี้ยติดต่อกันสองครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 นี้ด้วย และแม้จะลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นประเด็น หาก กนง. สื่อสารได้ดี และให้เห็นถึงความจำเป็นในการลดดอกเบี้ย

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จํากัด (มหาชน)หรือ TNITY ประเมินว่า หากกนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง คาดว่า ตลาดอาจตอบสนองในเชิงบวกเพราะตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลดลงทุกไตรมาส และ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.5-2.8% 

แต่ด้วยระยะเวลาที่กว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจน (Timelec Effect) อาจใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน หลังจากที่มีผลเริ่มต้นใช้ ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลต่อตลาดทุนในทันที ทั้งนี้ ก็ต้องดูที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ร่วมด้วย เพราะว่าผลตอบแทนจะส่งผลต่อการระดมทุนให้ง่ายมากขึ้น

“ส่วนตัวมองว่าอาจได้เห็นกนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง หรือ 3 ต่อ 4 เสียง เพราะในขณะนี้มีเหตุผลในการรองรับการลดอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก ทั้งเรื่องของตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลง และโดยเฉพาะในเรื่องของ GDP ที่เดิมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% อยู่ในช่วงที่เหมาะสม แต่ด้วยตัวเลข GDP ที่ปรับตัวลดลงมาเหลือที่ 2.5-2.8% ทำให้มองว่าอัตราดอกเบี้ยระดับ 2.5% นั้นสูงเกินไป และระดับที่ดีอาจต้องต่ำกว่า 2.25%”