จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายประคองเศรษฐกิจ

20 มี.ค. 2567 | 14:03 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 14:10 น.

สำนักวิจัยเรียงหน้า ลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี67 เหลือโตเฉลี่ย 2.6% จี้รัฐสร้างความชัดเจนนโยบาย เรียกเชื่อมั่นเอกชนวางแผนธุรกิจ ชี้จำเป็นต้องมีมาตรการประคองไม่ให้เศรษฐกิจไหลต่อ แม้ครึ่งปีหลังขยายตัวเร่งขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำและอานิสงส์การใช้จ่ายภาครัฐ

ปลายปี 2566 สำนักวิจัยแต่ละค่าย ต่างมองบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปี 2567 โดยเฉพาะโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเลต แต่ผ่านมาแค่ 2 เดือนเศษ สำนักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศเรียงหน้าปรับลดประมาณการเติบโตจีดีพีปีนี้ลง ก่อนที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะแถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกกลางเดือนพฤษภาคมนี้ 

นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มุมมองนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ประเมินการเติบโตของจีดีพีไทยปีนี้ ต่ำกว่า3% อยู่ที่ 2.6-2.7% โดยแต่ละคนไม่รวมโครงการดิจิทัล วอลเลต  โดยมองว่า แม้การส่งออกจะกลับมาเป็นบวก แต่ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยด้วย ทำให้การส่งออกของไทยเติบโตไม่ดี เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน 

นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย

ขณะที่การบริโภคโตแค่ 2.9%จากปีก่อน 7.1% ส่วนการใช้จ่ายรัฐบาลที่จะมาเป็นตัวช่วยขยายตัว 2.1% และการลงทุนภาครัฐขยายตัวแค่ประมาณ 2.0% จากติดลบปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณที่ล่าช้า แม้รัฐบาลพยายามเร่งให้ออกมาทันเดือนเมษายน แต่ก็เป็นตัวฉุด ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้เม็ดเงินออกมาได้จริง ซึ่งรัฐวิสาหกิจต้องเป็นตัวช่วยด้วย

"เรากังวลมากว่า รัฐบาลจะสามารถเร่งการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐออกมาได้เร็วหรือไม่ เพราะหากภาครัฐล่าช้าจะทำให้การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มระมัดระวังในการขยายกำลังการผลิต อีกทั้งการส่งออกที่เพิ่งจะพลิกเป็นบวกในช่วงหลัง 5-6 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำ ดังนั้นการส่งออกยังไม่กลับมาเติบโตเป็นปกติ หากเจอการบริโภคแผ่ว คนไม่กล้าใช้จ่ายและดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนเริ่มชะลอ  ถ้าปล่อยไปอย่างนี้เศรษฐกิจจะซึม"นายฉมาดนัยกล่าว 

จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายประคองเศรษฐกิจ

สำหรับ Krungthai COMPASS ประเมินจีดีพีทั้งปีจะเติบโตที่ 2.7% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพ บนสมมติฐานมูลค่าการส่งออกเติบโตที่ 1.8% และจำนวนนักท่องเที่ยว 34 ล้านคนไม่รวมโครงการดิจิทัล วอลเลต โดยไตรมาสแรก คาดว่า เศรษฐกิจจะทรงๆ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจแผ่ว  โดยเฉพาะภาครัฐเป็นตัวฉุดและความเชื่อมั่นของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มชะลอ   

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีแรกเบื้องต้นคาดว่า จีดีพีไตรมาส 1-2 น่าจะเติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉลี่ยครึ่งปีแรกน่าจะเติบโต 2.1% แต่จะไปบูทครึ่งปีหลังเมื่องบประมาณออก กิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงปลายปีจะกลับมาคึกคักโดยมีการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยในครึ่งหลัง  ครึ่งปีหลังอาจะเป็นไปได้ที่จีดีพีขยายตัวได้มากกว่า 3.0%

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นักวิเคราะห์เริ่มมองว่า มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบาบมากขึ้น ซึ่งทุกคนจับตา แม้ว่าเวลานี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบส่วนหนึ่งมาจากฐานปีที่แล้วและมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเรื่องค่าครองชีพ แต่ตอนนี้มาตรการภาครัฐทำได้จำกัด และธปท.เป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อและการลดดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องจับตาท่าทีของธปท. ซึ่งกรุงไทยมองว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในเดือนพฤษภาคมและเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังเป็นบวก

ด้านปัจจัยความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและในประเทศนั้น ปัจจัยภายนอก 2ด้านคือ  ทุกคนยอมรับปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่กับโลก โดยจะเห็นเรื่องที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นตลอดเช่น ค่าระวางเรือแม้จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังมีการโจมตีเรือปละปลาย โดยยังไม่แน่ใจความขัดแย้งจะเกิดขึ้นมาในพื้นที่ใหม่ๆซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล นอกจากนี้หลายประเทศที่มีการเลือกตั้ง ใช้ความเชื่อชาตินิยมในการเลือกและใช้โอกาสยกระดับไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ เป็นความกังวล 

ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงินของเฟดนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาของผู้ผลิตสหรัฐอเมริกาที่ออกมาไม่สนับสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังไปได้ดี เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยอาจไม่ใช่คำตอบ  หากเฟดไม่ลดดอกเบี้ยกระทบนโยบายประเทศอื่นด้วย 

ส่วนปัจจัยในประเทศไทยต้องจับตาการฟื้นตัวของการส่งออก เนื่องจากสินค้าของไทยได้อานิสงค์ไม่มากจากการฟื้นตัว  ไม่ว่ากระแสAI  ความต้องการ Solid State Drive : SSD ประเทศไทยไม่ใช่ฐานการผลิต   หรือรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะเข้ามาตีตลาดรถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเคมีหรือความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ลดลงตามเทรนของโลกที่เปลี่ยนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   

"ปัจจัยหล่านี้ เป็นความกังวลในระยะยาวว่า การส่งออกไทยจะโตทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปหรือการส่งออกจะฟื้นตัวช้า และจะกระทบกับภาคการผลิตโดยรวม และการจ้างงาน ซึ่งส่วนแชร์ของจีดีพี 30%มาจากภาคอุตสาหกรรม โดยยังไม่นับรวมการท่องเที่ยวที่เริ่มเติบโตน้อยและรายได้ของนักท่องเที่ยวไม่โตตามจำนวนนักท่องเที่ยว"

สอดคล้องกับดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า EIC ประเมินการเติบโตของจีดีพีรายไตรมาสปีนี้อยู่ที่ 1.6% ในไตรมาสแรก ถัดไป 2.3% ในไตรมาส2 จากนั้นขยับเป็น 2.7% ในไตรมาส3 ก่อนจะเพิ่มเป็น 4.2%ในไตรมาสที่4 จากทั้งปีคาดว่า จีดีพีจะขยายตัวได้ 2.7%

กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

 

ที่สำคัญ ในแง่การทำนโยบายทางเศรษฐกิจต้องทำคู่ขนานกันในสองปัจจัยคือ 1.ต้องประคองเศรษฐกิจเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลงต่อ จากกลุ่มเปราะบางที่ยังมีรายได้ไม่พอรายจ่าย มีภาระหนี้สูง มาตรการเยียวยาอาจต้องมีเพื่อสร้างฐานของเศรษฐกิจ และ 2.ต้องมีนโยบายที่เสริมการเติบโตไปข้างหน้า ผ่านการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศคู่ขนานกับการเจรจาเข้าร่วมสายพานการผลิตโลกใหม่ 

ด้านดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 จากเดิม 3.1% เหลือ 2.3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากอีกปีหนึ่ง เกิดจาก 3 ปัจจัยหลักคือ การบริโภคคนไทยซบเซา การลงทุนภาครัฐทรุดตัว และการส่งออกฟื้นตัวช้า 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาในระยะสั้นจาก

  1. การบริโภคซบเซา น่าเร่งหามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับคนมีรายได้ดี เพิ่มความเชื่อมั่น ส่วนคนรายได้น้อยน่าหามาตรการประคองกำลังซื้อ แจกเงินเฉพาะกลุ่ม สร้างงานในชุมชนะพยุงราคาสินค้าเกษตร
  2. งบประมาณล่าช้า โดยเฉพาะงบลงทุนด้านก่อสร้างที่มีตัวทวีคูณสูง กระจายรายได้ดี แต่กลับทรุดหนัก น่าหามาตรการเร่งด่วนให้เงินออกมาก่อน ไม่ควรรอจนเมษายน-พฤษภาคม
  3. ส่งออกโตช้า จากทั้งตลาดโลกชะลอ จีนอ่อนแอและสินค้าไทยขาดความสามารถในการแข่งขัน น่าหามาตรการพัฒนาสินค้า เร่งการลงทุนของต่างชาติ ขยายตลาด ทำ FTA กับประเทศสำคัญ 

ขณะที่ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า วิจัยกรุงศรีมองเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ ยังคงมีสัญญาณการเติบโตที่ต่ำต่อเนื่อง หลังจากแรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่วลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2566 ที่หดตัว -0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) หรือหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จะขยายตัวเพียง 1.7% เท่านั้น (YoY) ส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่คาดว่า จะยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากความล่าช้าในการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)

ส่วนการส่งออกยังไม่สดใสนัก แม้อัตราการเติบโตอาจสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากกิจกรรมภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้ และอาจช่วยให้เศรษฐกิจไทยรอดพ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิคได้

นอกจากนั้น การใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้ปัจจัยบวกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายระยะสั้นจากโครงการ Easy E-Receipt รวมถึงการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป แม้เศรษฐกิจจะได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่า จะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส2 แต่ยังจำเป็นต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านราคาพลังงานแก่กลุ่มเปราะบาง มาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงLow-season

นอกจากนี้ ความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศนับว่า มีความสำคัญเพราะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการวางแผนธุรกิจของภาคเอกชนในระยะต่อไป ในช่วงที่อาจมีความเสี่ยงจากภาคการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น หลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้ 

ต่อข้อถามถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้จีดีพีไทยไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ดร.พิมพ์นารากล่าวว่า ความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่

  1. การหดตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ อันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชน (Crowding-in effect) ซึ่งหากการลงทุนภาครัฐยังมีความล่าช้าต่อเนื่อง จะทำให้ Crowding-in effect ต่ำกว่าคาด
  2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก (เช่น สหรัฐฯ และยูโรโซน) และไทย หากอยู่ในระดับสูงและนานกว่าคาด อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมของประชาชนและภาคธุรกิจ
  3. ผลกระทบจากภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่กระทบผลผลิตในภาคเกษตรและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยในกรณีฐาน วิจัยกรุงศรีคาดว่าภัยแล้งอาจส่งผลกระทบต่อ จีดีพีปี 2567นี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,976 วันที่ 21 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2567