"Green Investment Trust" โอกาสคนปลูกป่าเก็บคาร์บอนระดมทุน

18 ก.พ. 2567 | 13:49 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2567 | 09:14 น.

ก.ล.ต.เตรียมออกหลักเกณฑ์จัดตี้ง "Green Investment Trust" สนับสนุนผู้ลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสคนปลูกป่า เก็บคาร์บอน แปลงทรัพย์สิน เป็นหลักทรัพย์

KEY

POINTS

  • สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการ "Green Investment Trust" หรือ “GIT" 
  • Green Investment Trust มีเป้าหมายสนับสนุนผู้ลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสคนปลูกป่า เก็บคาร์บอน แปลงทรัพย์สิน เป็นหลักทรัพย์
  • เบื้องต้น ก.ล.ต. กำหนดให้ Green Investment Trust เสนอขายหน่วยทรัสต์ต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความเห็นการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการ "Green Investment Trust" หรือ “GIT”ระหว่างวันที่ 16 ก.พ. 2567 ถึง 18 มี.ค. 2567 เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการ GIT จากผู้ที่เกี่ยวข้องและจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และร่างประกาศให้เหมาะสม

หลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการ Green Investment Trust หรือ “GIT” ของก.ล.ต. มีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนเพื่อพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ที่ต้องการระดมทุนที่มีทรัพย์สินเป็นพื้นที่สำหรับการปลูกป่าโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น เกษตรกร และชุมชน เป็นต้น สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ได้

สำนักงานก.ล.ต. ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันแนวคิดด้านการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน ก.ล.ต. จึงริเริ่มศึกษาแนวทางการใช้ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงการที่อนุรักษ์หรือรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ที่มีวัตถุประสงค์สำหรับการปลูกป่าเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

เนื่องจากการลงทุนใน "Green Investment Trust" อาจมีความเสี่ยงสูงจากความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่จะได้รับ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงจำกัดประเภทผู้ลงทุนให้เฉพาะผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สามารถวิเคราะห์และรับความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ และ/หรือมีฐานะการเงินที่ดีในระดับหนึ่ง

ดังนั้น หลักเกณฑ์การกำกับดูแล Green Investment Trust จะมีลักษณะผ่อนปรนมากกว่ากรณีการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป โดยได้นำแนวทางกำกับดูแลทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อผู้ลงทุนในวงจำกัด (“Private REIT”) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (“PE Trust”) มาพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะกองทรัสต์โดยสรุปหลักเกณฑ์ Green Investment Trust ได้ดังนี้

1. โครงสร้างของ Green Investment Trust มีทรัสตีทำหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทรัสต์ คัดเลือกและแต่งตั้งผู้จัดการกองทรัสต์ และดูแลให้ผู้จัดการกองทรัสต์บริหารจัดการกองทรัสต์ให้เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์

2. การขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์ ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (อนุญาตเป็นการทั่วไป)

3. เป็นการเสนอขายหน่วยทรัสต์ต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น

4. มีผู้ถือหน่วยทรัสต์ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป และต้องมิได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ (private trust) รวมทั้งต้องมิได้เป็นไปเพื่อการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

5. ลงทุนในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินในประเทศไทยที่มีการปลูกป่า ซึ่งอย่างน้อยต้องได้รับการขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(Thailand Voluntary Emission Reduction Program: “T-VER”) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(“อบก.”) (“ทรัพย์สินหลัก”)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินโครงการปลูกป่าเพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้ได้ตามเงื่อนไขของ อบก. หรือมาตรฐานคาร์บอนเครดิตสากลอื่นที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป และต้องมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าหน่วยทรัสต์ที่เสนอขายทั้งหมดรวมถึงเงินกู้ยืม (ถ้ามี)

6. จัดหาผลประโยชน์โดยการขายคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก รวมไปถึงการตัดไม้เพื่อจำหน่าย(ถ้ามี) โดยการตัดไม้เพื่อจำหน่ายดังกล่าวต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ อบก. หรือไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

7. สามารถกู้ยืมเงินได้โดยไม่จำกัดเพดานการกู้ยืมหรือมีข้อจำกัดการก่อภาระผูกพัน

8. ทรัพย์สินหลักต้องสามารถประเมินมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ และเป็นไปตามหลักวิชาการและสามารถอ้างอิงได้ จากผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

ที่มา : การออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการ Green Investment Trust