TISCO แบกต้นทุนการเงินเพิ่ม กดกำไรปี 66 โตแค่ 1% แตะ 7.3 พันล้าน

15 ม.ค. 2567 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 10:26 น.

TISCO รายงานงบปี 66 กำไรสุทธิ 7,303 ล้านบาท โต 1.1% (yoy) รับรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามเงินให้สินเชื่อ แต่มีภาระต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มถึง 93.9% ขณะที่งบไตรมาส4/66 กำไร 1,782 ล้านบาท ลดลง 1.4% ตามรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจากธุรกิจตลาดทุน

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ TISCO  เปิดเผยผลประกอบการงวดปี 2566 ของบริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,302.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.54 ล้านบาท หรือเพิ่ม 1.1% จากปี 2565

TISCO แบกต้นทุนการเงินเพิ่ม กดกำไรปี 66 โตแค่ 1% แตะ 7.3 พันล้าน

สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ 8.6% ตามเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว 7.2% แม้ว่าในปีนี้ ต้นทุนทางการเงินของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นถึง 93.9% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด ประกอบกับการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี

 

ในส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน โดยรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์อ่อนตัวลง16.5% จากตลาดทุนที่ผันผวนรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงผลขาดทุนจากเครื่องมือทาง การเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL)

นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าประกันภัย ที่ชะลอตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ธุรกิจจัดการกองทุนสามารถกลับมาขยายตัวได้ 5.4% เป็นผลมาจากทั้งค่าธรรมเนียมพื้นฐานที่เติบโตตามสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร รวมถึงการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของธุรกิจจัดการกองทุน (Performance Fee)

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% จากแผนการลงทุนระยะยาวเพื่อการขยายตัวของธุรกิจ ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงจากปีก่อนหน้า และอยู่ในระดับต่ำที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย 
 

Q4/66 กำไร 1,782 ล้านบาท -1.4% YOY และ -5.0% QoQ

กำไรสุทธิสำหรับผลประกอบการงวดไตรมาส 4 ปี 2566 ของบริษัทมีจำนวน 1,781.66 ล้านบาท ลดลง 25.07 ล้านบาท หรือลดลง 1.4% จากไตรมาส 4 ปี 2565 สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 17.0% เนื่องมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน ทั้งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงและการรับรู้ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน ประกอบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ 

อย่างไรก็ดี รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% จากสินเชื่อที่ขยายตัว ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5.4% ตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 กำไรสุทธิลดลง 92.82 ล้านบาท หรือลดลง 5.0%จากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ด้านรายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 0.2% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 0.8% ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวได้ดีจากไตรมาสก่อนหน้า 

รวมถึงบริษัทมีการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของธุรกิจจัดการกองทุน (Performance Fee) มีจำนวน 51.39 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนอ่อนตัวลง ทั้งค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมพื้นฐานธุรกิจจัดการกองทุน และผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากความผันผวนของตลาดทุน ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.0% จากค่าใช้จ่ายตามฤดูกาลที่เพิ่มขึ้น