ก.ล.ต.ส่ง บก.ปอศ. ฟันอาญา 13 ราย ร่วมปั่นหุ้น FVC

11 ม.ค. 2567 | 18:07 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 08:46 น.

ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด รวม 13 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) (FVC) พร้อมทั้งแจ้งดำเนินคดีต่อปปง.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม กรณีพบพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดจำนวน 13 ราย ได้แก่

  • (1) นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย
  • (2) บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP  (ปัจจุบันชื่อบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON )
  • (3) นางสาวทิพรัตน์ สาครสุขศรีฤกษ์
  • (4) นางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์
  • (5) นายวัฒนา สวัสดิ์ทอง
  • (6) นายดนุช บุนนาค
  • (7) นายประพล มิลินทจินดา
  • (8) นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์
  • (9) บริษัท พี-แซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (P-SAT)
  • (10) นายอนุพนธ์ ศรีอาจ
  • (11) นายกิจจพัฒน์ อิทธิฤทธานนท์
  • (12) นางอนัญญา เรืองศักดิ์วิชิต
  • (13) นายนัฐพล เฉลิมพจน์ 

ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เข้ามาซื้อขายหุ้น FVC และมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะรู้เห็นหรือตกลงกัน โดยแบ่งหน้าที่กันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FVC สอดรับและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้น FVC ผิดไปจากสภาพปกติ ในช่วงระหว่างวันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2558 (รวม 5 วันทำการ) และวันที่ 19 - 21 ตุลาคม 2558 (รวม 3 วันทำการ) ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าขณะนั้นมีความต้องการซื้อขายหุ้น FVC ในปริมาณมากและเข้ามาซื้อขายตาม จึงเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 244 และมาตรา 243(2) ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นความผิดตามมาตรา 244/3 และมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

นอกจากนี้ การกระทำของนายอนุพนธ์ในฐานะผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)) ซึ่งมีอำนาจสั่งซื้อขายในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล ได้ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น FVC ในลักษณะการสร้างราคาในช่วงเวลาดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้มอบหมายให้จัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 134 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 133 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ รวมทั้งกรณีของนายประพล ที่ไม่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหุ้น FVC ข้ามร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ยังเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ อีกด้วย
 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมของกลุ่มผู้กระทำความผิดมีรูปแบบของการกระทำเป็นขบวนการ มีลักษณะแบ่งหน้าที่ในการส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อสร้างราคาหุ้น FVC ประกอบกับผู้กระทำความผิดหลายรายในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการกระทำผิดในหลายกรณีต่อเนื่องกันทั้งที่เป็นการทุจริตและการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าวแล้วในหลายกรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้ง 13 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อ ปปง. เนื่องด้วยเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว