นักวิชาการมอง กำไรธนาคาร ไม่ผิดปกติ ชี้แนวคิดอนุรักษ์นิยมเกินขนาด คือปัญหา

09 ม.ค. 2567 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2567 | 14:18 น.

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ มองผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ มีกำไรสูง ไม่ผิดปกติ ชี้ปัญหาจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมเกินขนาด บวกการลงทุนในระบบไอทีที่ไร้ประสิทธิภาพ คือปัญหาที่ ธปท.ต้องแก้

จากกรณี บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ได้ออกมาเปิดเผยผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหลายแห่งล้วนมีกำไร โดยมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบัน

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล ระบุถึงผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ว่า ในสายตาประชาชนที่เดือดร้อนจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงมากทำให้เกิดข้อสังเกตว่าธนาคารได้กำไรผิดปกติ 

แต่ในมุมการเงินทั่วๆ ไป โดยเทียบกับเงินทุนที่ใช้ไป (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุนหรือ ROE) ไม่ได้ถือว่าธนาคารมีกำไรสูงผิดปกติ รวมถึงตัวชี้วัดในการทำกำไรอย่าง NIM มันก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น 

น.ส.สฤณี ระบุถึงการพิจารณาสาเหตุของปัญหาว่า หากมองว่าธนาคารได้กำไรผิดปกติ เกิดจากการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมให้ธนาคารทั้งหลายคิดดอกเบี้ยอัตราสูง ก็ต้องนำไปสู่คำสั่งให้ธนาคารลดดอกเบี้ย ซึ่งผลที่ตามมาคือธนาคารปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เนื่องจากลูกหนี้จำนวนมากมีความเสี่ยง และจะปล่อยเงินกู้ให้เฉพาะลูกหนี้ชั้นดี

พร้อมกันนี้ ยังได้สะท้อนมุมมองของปัญหาที่แท้จริง ผ่านโพสต์ดังกล่าวว่า น่าจะเกิดจากต้นทุนที่สูงจากความไร้ประสิทธิภาพ เช่น ทุ่มเงินลงทุนในระบบ IT แต่ล่มแล้วล่มอีก บวกกับ ทัศนคติอนุรักษ์นิยมเกินขนาดเวลากลั่นกรองสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 26 ปีที่แล้ว

ธปท. ควรกำกับอย่างจริงจัง จูงใจให้ลงทุนในประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ยกเลิกการสั่งปรับ5 แสนบาท เป็นบทลงโทษที่มากขึ้น เมื่อระบบ e-banking ล่มถึง 8 ชั่วโมง เนื่องจากมองว่าเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป 

พร้อมทั้งควรเพิ่มการกำหนดเกณฑ์ privacy + cybersecurity ที่ได้มาตรฐานสากล, บังคับให้ใช้ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ เป็น KPI ในการประเมินผลตอบแทนของผู้บริหารและกรรมการ เป็นต้น 

 

สำหรับทัศนคติอนุรักษ์นิยมเกินขนาด น.ส.สฤณี มีความเห็นว่า ธปท.ควรเปิดเสรีการแข่งขันที่เป็นธรรมจากคู่แข่งหน้าใหม่ที่ไม่มีมรดกทางความคิดเช่นนี้

พร้อมพัฒนาโครงสร้างที่ช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้โดยเฉพาะ SME  เช่น ใบอนุญาต virtual bank ห้ามธนาคารเดิมสมัคร, ผลักดันกฎหมาย open data บังคับธนาคารใหญ่เปิดข้อมูล, แก้กฎกติกาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของฟินเทคหน้าใหม่ (เช่น ให้ บสย. ค้ำประกันให้ฟินเทคได้), ปลดล็อกอำนาจผูกขาดในธุรกิจ credit scoring, promptpay และ national digital ID (หรือกำกับให้เป็นธรรมขึ้น), ทำทะเบียนหลักประกันออนไลน์, ฯลฯ 

ทั้งนี้ น.ส.สฤณี ระบุท้ายโพสต์ถึงมาตรการอื่นๆที่ควรดำเนินการ เช่น การจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยเปิดบัญชีเงินออมระยะยาว เป็นต้น