โกงหุ้น MORE กว่า 1 ปี คดีไม่คืบ คนผิดยังลอยนวล

18 พ.ย. 2566 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2566 | 10:51 น.
2.1 k

ย้อนรอยคดีโกงหุ้น MORE มูลค่าความเสียหายกว่า 7 พันล้านบาท ผ่านไป 1 ปี คดีไม่คืบ ปิงปอง “อภิมุข บำรุงวงศ์” กับพวกยังลอยนวล คดีปั่นหุ้นเงียบ

ปมหุ้น MORE บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) กับ หุ้น STARK บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ที่สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หงุดหงิดกับคดีหุ้น MORE และหุ้น STARK ที่ล่าช้า

“วันนั้นผมก็อารมณ์เสียใส่ดีเอสไอไปเรื่องหุ้นมอร์ และหุ้นสตาร์ค ซี่งเป็นเรื่องสำคัญที่ความไว้วางใจในตลาดมีน้อย เรื่องเกิดมานานเท่าไหร่ ยังไม่จบเสียที ติดอยู่ที่ดีเอสไอ ไม่ใช่เรื่องหมูอย่างเดียว” นายเศรษฐา ระบุถึงบรรยากาศระหว่างการหารือกับหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องปมหุ้น MORE และ หุ้น STARK ที่สร้างความเสียหายมูลค่ารวมกันกว่าแสนล้านบาท ยังคงล่าช้า อย่างคดีหุ้น MORE ผ่านไป 1 ปี คดียังค้างอยู่ที่ “ดีเอสไอ” ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565

กรณีหุ้น MORE นับเป็นเรื่องกระทบความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์อย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ช่องโหว่ของกฏระเบียบตลาดทุนปล้นโบรกเกอร์ทีเดียวกว่า 10 บริษัท มีมูลค่าความเสียหายกว่า 7 พันล้านบาท อีกทั้งยังทำให้นักลงทุนรายย่อยต่างได้รับความเสียหายจากราคาหุ้นที่ผันผวนรุนแรงไปตามๆ กัน

หลังพบความผิดปกติการซื้อขายหุ้น MORE ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังก่อนตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE 
 
จากนั้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขาย "หุ้น MORE" พร้อมยื่นหนังสือต่อ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือความผิดปกติเกี่ยวกับกรณีปัญหาการชำระราคาค่าหุ้น MORE

นอกจากนี้ตลท. ยังได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) พบว่ามีรายชื่อผู้ขายที่เกี่ยวพันกับนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก

จากการตรวจสอบพบว่าตัวละครสำคัญกรณีหุ้น MORE คือ ปิงปอง “อภิมุข บำรุงวงศ์” ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของหุ้น MORE เป็นผู้ทำรายการในฝั่งขาซื้อ ผ่านโบรกเกอร์กว่า 10 แห่ง  แต่สุดท้ายไม่สามารถชำระราคาค่าหุ้นได้ ทำให้โบรกเกอร์เหล่านี้ต้องสำรองเงินเพื่อชำระราคาค่าซื้อหุ้นของนายอภิมุขไปก่อน ส่งผลให้โบรกเกอร์บางแห่งประสบปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นปิดการดำเนินงาน 

นั่นคือ กรณีบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ ที่นำเงินลูกค้าไปจ่ายค่าหุ้น MORE จนทำให้บริษัทมีฐานทุนไม่เพียงพอ จนนำไปสู่การมีคำสั่ง ก.ล.ต.เพิกถอนใบอนุญาต ต้องปิดดำเนินการในที่สุด

16 พฤศจิกายน 2565  โบรกเกอร์ที่ นายอภิมุข เป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อหุ้น เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) เพื่อฟ้องนายอภิมุขและพรรคพวกอีกราว 20 คนในข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากต้องสงสัยว่ารายการซื้อขายหุ้น MORE ดังกล่าว จะเป็นลักษณะการจับคู่ซื้อขายในกลุ่มเดียวกันเอง จนสร้างความเสียหายให้กับโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อหุ้นออกไป

21 พฤศจิกายน 2565  ปปง. อายัทรัพย์สิน นายอภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวก ที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง รวมมูลค่าประมาณ 5,300 ล้านบาท พร้อมดอกผล มีกำหนด 90 วัน ท่ามกลางกระแสข่าว “อภิมุข บำรุงวงศ์” หลบหนีออกนอกประเทศ

8 ธันวาคม 2565 โบรกเกอร์ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีฉ้อโกงหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE เข้าพบ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการก.ล.ต.ในขณะนั้น เพื่อสอบถามความคืบหน้าและแนวทางจัดการกับผู้เกี่ยวข้องกับกรณีฉ้อโกงหุ้น MORE 

10 กุมภาพันธ์ 2566 ก.ล.ต. แจ้งความเอาผิด นายอภิมุข บำรุงวงศ์ และพวกรวม 18 ราย เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (ปั่นหุ้น) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ.2535 ม.244/3 , 244/5 และ 244/6 (อัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึง 5 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ) 
16 กุมภาพันธ์ 2566 พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ ผู้ถูกกล่าวหา กับพวก จำนวน 59 รายการ รวมประมาณ 4,470,877,185.15 บาท พร้อมดอกผลของเงิน หรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน

27 มิถุนายน 2566 ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 32 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีปั่นหุ้น MORE ระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2565 โดยผลประโยชน์ที่กลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมด ได้รับหรือพึงได้รับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ดังนี้

(1) นายอภิมุข บำรุงวงศ์ (2) นายเอกภัทร พรประภา (3) นายอธิภัทร พรประภา (4) นางอรพินธุ์ พรประภา (5) นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล (6) บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล จำกัด (7) บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด (8) นายสมนึก กยาวัฒนกิจ (9) นายโสภณ วราพร (10) นายวสันต์ จาวลา (11) Mr. Shubhodeep Prasanta Das (12) นายประยูร อัสสกาญจน์ (13) นางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ (14) นางสาวสุร์ศิริ ปรีดาสุทธิจิตต์ (15) นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (16) นางสาวอัยลดา ชินวัฒน์

(17) นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ (18) นายมั่นคง เสถียรถิระกุล (19) นางสาวอรเก้า ไกยสิทธิ์ (20) นายเกรียงศักดิ์ วงศ์โอสถพานิช (21) นางสาวสิริรัตน์ สมณาศรี (22) นายธีรพงศ์ ด่านวณิชวงศ์ (23) นายวิศรุต เจียมจิตพลชัย (24) นายปรณัฐ นุชาชาติพงศ์ (25) นายภูดิท สุจริตกุล (26) นายวัชรินทร์ ยังให้ผล (27) นายธนยุทธ ฤกษ์รักษา (28) นายธรรมนูญ เวชวิทยาขลัง (29) นายภัทร ฉัตรเจริญสุข (30) นายชยพล พันธุ์แพ (31) นายพิเชษฐ์ ผลสุวรรณชัย และ (32) นางศศินภา วราพร

4 ตุลาคม 2566 นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่เปิดเผยตามความคืบหน้าของคดีหุ้น MORE ว่า ทาง DSI อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดที่เกี่ยวกับหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เร่งรัดการดำเนินการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมาโดยตลอด

ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา การดำเนินคดีกับก๊วนโกงหุ้น MORE ไม่คืบ ปิงปอง “อภิมุข บำรุงวงศ์” ยังลอยนวล หายเข้ากลีบเมฆแบบไร้ร่องรอย ขณะที่คดีปั่นหุ้นที่มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากก็เงียบหาย ทั้งๆ ที่คดีนี้มีมูลค่าความเสียหายมหาศาล