ผุดกองทุนหมื่นล้าน อุ้มตลาดหุ้น แก้ลำต่างชาติขายต่อเนื่อง

15 พ.ย. 2566 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 16:16 น.

คลังตั้งกองทุน TESG ออมหุ้น-ตราสารหนี้ยั่งยืน หวังดึงเม็ดเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาทเข้าตลาดหุ้น เพิ่มลดหย่อนภาษีอีก 1 แสนบาท หลังดัชนีหุ้นไทยทรุดหนัก 282.62 จุดจากต้นปี มาร์เก็ตแคปหาย 3.41 ล้านล้านบาท เฉพาะช่วงรัฐบาลเศรษฐา ดัชนีลดถึง 190.63 จุด

ท่ามกลางกระแสข่าวความไม่พอใจของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อการทำงานของนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ที่ปล่อยให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ SET Index ไหลรูดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีมาตรการดูแลใดๆ 

หลังการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสำเร็จ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 6 วันติดต่อกันไปอยู่ที่ระดับ 1,576.67 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล โดยดัชนีปรับลงไปตํ่าสุดที่ระดับ 1,466.93 จุด ก่อนจะปรับเพิ่มไปปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,576.67 จุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2566

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งความไม่ชัดเจนเกี่ยวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่มี่แนวโน้มยืดเยื้อและอาจขยายความรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่ระดับภูมิภาค ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อราคานํ้ามันและสภาวะการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก

รวมถึงความกังวลจากการปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ทำให้ส่วนต่างของผลตอบแทนในหุ้นกับพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,386.04 จุดลดลงถึง 190.63 จุดหรือ 12.09% หลังการจัดตั้งรัฐบาล 

การดคลื่อนไหวของ Set Index

แต่หากเทียบจากต้นปีจนถึงปัจจุบันดัชนีปรับลดลงถึง 282.62 จุดหรือ 16.94% จากดัชนีสิ้นปี 2565 ปิดที่ 1,668.66 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)ลดลง 3.41 ล้านล้านบาทจากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 20.44 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 17.03 ล้านล้านในวันที่ 14  พฤศจิกายน 2566

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 มียอดขายสุทธิสะสมถึง 182,392.23 ล้านบาท เมื่อเที่ยบกับปี 2565 ที่นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิรวมทั้งปีอยู่ที่ 196,886 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลนี้ในปี 2535

ทำให้นายเศรษฐาต้องสั่งการให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เรียก 3 หน่วยงานคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)และกระทรวงการคลังมาหารือเป็นการด่วนเกี่ยวกับสภาวะตลาดหุ้น ตามมาด้วยการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

  • ชงตั้งกองทุน TESG 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีการประชุมร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โดยได้เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) หรือ TESG เพื่อสนับสนุนการออมระยะยาว และมีเป้าหมายในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ที่เป็น ESG และรวมไปถึงการลงทุนในตราสารหนี้ด้วย

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาและเตรียมการจัดทำเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่ใช่การเรียกประชุมฉุกเฉิน ซึ่งการประชุมได้ข้อยุติแล้วว่า จะมีการจัดตั้งกองทุน TESG ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะตอบโจทย์ หากประเทศไทยจะเข้าร่วมในกติกาโลกต่างๆ ในการไปสู่ความยั่งยืน ส่วนนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งการส่งสัญญาณว่า เราก็มีเครื่องมือทางด้านตลาดทุนที่ตอบโจทย์เรื่อง ESG”นายลวรณกล่าวยืนยัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกองทุนลดหย่อนภาษี ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ซึ่งทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวสามารถลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 5 แสนบาท ขณะที่ TESG นั้น จะเป็นการจัดตั้งกองทุนใหม่เพิ่มขึ้นมา โดยกำหนดให้สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งหากรวมการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนทั้งหมด นักลงทุนจะได้รับการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 6 แสนบาท

  • คาดเม็ดเงินลงทุน 1 หมื่นล้าน

สำหรับกองทุน TSEG ใช้ระยะเวลาลงทุน หรือถือครอง 8 ปีเต็ม คาดว่า จะเริ่มเปิดให้ลงทุนได้ในเดือนธ.ค.66 เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาลงทุนได้รับการลดหย่อนภาษีในเดือนมี.ค.2567 ซึ่งคาดว่า จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนมีอายุ 10 ปี

“เราจะมีการเสนอกฎหมาย เพื่อออกเป็นกฎกระทรวง โดยจะมีการขอความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการออกหลักเกณฑ์กองทุนลักษณะขึ้นมา และกรมสรรพากรจะต้องได้ข้อมูลครบถ้วน เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้ทำการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 21 พ.ย.นี้”

หากถามว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (SET) มี ESG มากพอหรือไม่นั้น ปัจจุบันบริษัทที่อยู่ในตลาดเป็นบริษัทเกี่ยวกับ ESG ประมาณ 210 บริษัท จากทั้งหมด 800 บริษัท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากพอสำหรับการเลือกลงทุน และหากมีการลงทุนลักษณะนี้เกิดขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลให้มีบริษัทที่ปรับการดำเนินธุรกิจมาสู่ ESG มากยิ่งขึ้น

  • มั่นใจเกิด ESG Bond มากขึ้น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า FETCO มองว่าเทรนด์เรื่อง ESG ของโลกมีความสำคัญอย่างยิ่ง และไทยก็เข้าไปเป็นภาคีเครือข่ายในข้อตกลงต่างๆ จึงอยากให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับการส่งเสริมในเรื่องนี้ จึงได้มีการเสนอจัดทำกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ TESG ซึ่งจะรวมเฉพาะบริษัทไทยที่เกี่ยวกับ ESG เข้ามาอยู่ในกองทุน โดยตลท. จะเป็นผู้ดูรายละเอียดให้ รวมทั้งในส่วนตราสารหนี้ต่างๆ ด้วย คาดว่าปีแรกจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท และจะขยายผลในปีต่อๆ ไป

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

“เมื่อรัฐบาลได้มีการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว จะทำให้บริษัทต่างๆ ยกระดับในการทำ ESG ขึ้นมา รวมถึง ESG Bond ก็จะเกิดมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาล ที่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ สามารถบอกได้ว่าเมืองไทยใส่ใจเรื่อง ESG ถือเป็นการทำอย่างรวดเร็ว และภายในปลายปีนี้จะสามารถลงทุนได้”

นอกจากนี้ ในอนาคต FETCO จะมีการเข้ามาหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องการสนับสนุนการออกเพื่อการศึกษาบุตรหลาน, การทบทวน SSF ที่จะครบกำหนดอายุสิ้นปี 2567, การกำกับดูแลให้ตลาดทุนมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น, และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการอธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรจะเร่งดำเนินการภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ส่วนการดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ ตามอายุของกองทุนนั้น คาดว่ากรมจะสูญเสียรายได้การจากลดหย่อนภาษีประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ก็ถือเป็นการดำเนินการตามแนวโน้มการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการอธิบดีกรมสรรพากร

  • ยันไม่ห้าม Short Sell

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวความไม่พอใจของนายเศรษฐาต่อนายภากร เกิดจากการที่นายภากร ไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยไม่ว่าจะเป็นการออกไปนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อชะลอการขาย

หลังจากตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นักลงต่างชาติมียอดขายหุ้นสุทธิสะสมถึง 182,392 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีหุ้นปรับลดลง 16.94% รวมถึงการเรียกร้องให้ ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามทำธุรกรรมขายชอร์ตเซล(Short Sell) เหมือนกับเกาหลีใต้ หลังจากมีกระแสข่าว สาเหตุที่หุ้นถูกทุบร่วงระนาวมาจาการทำ Naked Short Sell หุ้นไทย

อย่างไรก็ตามนายภากรได้ออกมายืนยันว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีนโยบายห้าม Short Sell โดยมองว่า การจะเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ เรื่องการ Short Sell หรือโปรแกรมเทรดดิ้ง รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นด้วยความถี่สูง จะต้องมีข้อมูลที่มากพอในการตัดสินใจ