WHA โชว์กำไร Q3/66 โตทะยาน141% แจกปันผล 0.0669 บาทต่อหุ้น

10 พ.ย. 2566 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 07:50 น.

WHA โชว์งบไตรมาส 3/2566 ทำกำไรสุทธิ 623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% (YoY) จากการเติบโตของ 4 กลุ่มธุรกิจ เคาะจ่ายปันผลระหว่างกาลที่ 0.0669 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD วันที่ 22 พ.ย.นี้ ส่งซิก Q4 เติบโตต่อเนื่อง รับรู้รายได้การขายที่ดินให้"ฉางอาน"

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2566 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 2,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และกำไรสุทธิ 623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และกำไรปกติ 609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 (YoY)

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 8,434 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,012 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 8,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และกำไรปกติ 1,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% (YoY)  

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวด 9 เดือน ในอัตราหุ้นละ 0.0669 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566  และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ตามลำดับ 
 

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA Group เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตอย่างโดดเด่น ทั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค (น้ำและไฟฟ้า) และธุรกิจดิจิทัล โซลูชัน ที่เติบโตสอดรับกระแสการย้าย/ ขยายฐานการลงทุนและฐานการผลิต ที่ดึงดูดการเข้ามาลงทุนแบบระยะยาว ส่งผลให้ภาคการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง สะท้อนถึงศักยภาพความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของ WHA Group ภายใต้ภารกิจ Mission To The Sun เพื่อก้าวสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 และด้วยปัจจัยดังกล่าว ส่งผลเชิงบวกต่อผลประกอบการของ 4 กลุ่มธุรกิจ

ธุรกิจโลจิสติกส์  มีผลงานการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น โดยจะมีการเซ็นสัญญาเช่ากับลูกค้ารายใหม่ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงส่งมอบพื้นที่เช่าให้กับลูกค้าได้ตามแผนงานที่วางไว้โดย 9 เดือนแรก บริษัทฯ ได้มีการลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน / คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 81,196 ตารางเมตร ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม 142,255 ตารางเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปีที่ 100,000 ตารางเมตร โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,845,132 ตารางเมตร อีกทั้งมีความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 286  ล้านบาท และ 798 ล้านบาท ตามลำดับ
 

ทั้งนี้ภายหลังจากประสบความสำเร็จความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้า/ ศูนย์กระจายสินค้าคุณภาพสูง ในโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 บนเนื้อที่รวมกว่า 400 ในโครงการ เฟส 1 ส่งผลให้ต้องเร่งพัฒนาโครงการเฟส 2 เพื่อรองรับความต้องการเช่าพื้นที่ที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัท Webasto จำกัด บริษัทผู้จัดหาชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ได้ลงนามในสัญญาเช่าอาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ขนาดพื้นที่ 13,083 ตารางเมตร ในพื้นที่เฟส 2 นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมีกลุ่มลูกค้าอาทิ กลุ่มผู้ผลิต/ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และผู้ให้บริการโลจิสติกส์อีกหลายรายที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าลูกค้าจะทยอยลงนามในสัญญาเช่าได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมพัฒนาโรงงานแบบ Built-to-Suit (ส่วนขยาย) ให้กับลูกค้าผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 เพื่อรองรับความต้องการโรงงานแบบ Built-to-Suit ที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ กม. 23 (ขาเข้า) บนพื้นที่ให้เช่ารวม 46,000 ตารางเมตร ที่ได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ลงนามในสัญญาเช่าไปแล้ว อาทิ บริษัท ไดนาแพค โรด อีควิปเม้นท์ (ประเทศไทย) ผู้นำด้านการผลิตเครื่องจักรสำหรับงานก่อสร้างถนน ได้ลงนามในสัญญาเช่าในการพัฒนา Showroom สำหรับแสดงสินค้า แบบ Built-to-Suit เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่อยู่ระหว่างการเจรจาสนใจเช่าพื้นที่ในโครงการดังกล่าวอีกหลายราย

WHA Group ยังคงมุ่งขยายการเติบโตให้ครอบคลุมทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในประเทศ ควบคู่กับการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศเวียดนาม โดยมีแผนพัฒนาโครงการคลังสินค้าให้เช่าแห่งแรกในประเทศเวียดนาม ขนาด 35,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ใกล้กับกรุงฮานอย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างให้กับลูกค้าภายในสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนเข้ามาใช้ทั้งระบบ สะท้อนจากการพัฒนาโครงการอาคารสีเขียวแห่งแรก รวมถึงโครงการ Green Logistics ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยล่าสุดบริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มผู้ให้บริการรถบรรทุกไฟฟ้า หรือ EV Truck หลายราย โดยคาดว่าจะสามารถทยอยลงนามในสัญญาเช่าได้ภายในปีนี้

สำหรับความคืบหน้าในการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART นั้น ล่าสุดผู้ถือหน่วยกองทรัสต์ WHART มีมติอนุมัติให้ทำการลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินประเภทคลังสินค้าพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 142,583 ตารางเมตร เป็นมูลค่า 3,567 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2566  

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม  จากกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิต ส่งผลให้ความต้องการใช้ที่ดินอุตสาหกรรมของนักลงทุนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น อันเป็นผลเชิงบวกต่อภาพรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group และจากปัจจัยดังกล่าวตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย พร้อมเร่งการขยายธุรกิจในเวียดนามให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 2,032 ไร่ (ไทย 1,617 ไร่ / เวียดนาม 415 ไร่) และยอด MOU รวม 991 ไร่ (ไทย 561 ไร่ / เวียดนาม 430 ไร่) สำหรับไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 1,012 ล้านบาท และ 3,535 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับยอดขายที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบกระโดดนั้น สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของประเทศไทยที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิต (Relocation) เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รอบโลก อาทิ ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และสงครามอิสราเอล - ฮามาส เป็นต้น ส่งผลให้มีผู้ลงทุนจากต่างชาติ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ ย้ายฐานการลงทุนมาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความต้องการในการขยายฐานการผลิต (Expansion) ก็มีส่วนช่วยดึงดูดการเข้ามาลงทุนแบบระยะยาว โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ มียอดขายที่รอการโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) ให้กับลูกค้ากว่า 1,493 ไร่ (ไทย 1,252 ไร่ / เวียดนาม 241 ไร่)

ปัจจุบัน WHA Group มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 12 แห่ง ที่พร้อมรองรับความต้องการของนักลงทุน รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม แห่งใหม่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 (1,100 ไร่) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยปัจจุบัน มีกลุ่มลูกค้าบางรายได้ลงนาม ในสัญญาซื้อขายที่ดินและ/ หรือทำการจองไปแล้ว อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ ผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

โดยบริษัทฯ คาดว่า ภายในสิ้นปี 2566 จะมีลูกค้าลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินและ/ หรือทำการจองเป็นพื้นที่รวมกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ขายโครงการเฟส 1 ส่งผลให้ต้องเร่งดำเนินการพัฒนาเฟส 2 (1,100 ไร่) ในเร็วๆนี้ อีกทั้งยังมีเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 (2,400 ไร่) ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เฟส 3 พื้นที่ 630 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 พื้นที่ 480 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เฟส 3 พื้นที่ 330 ไร่

และล่าสุดบริษัทฯ ปิดดีลบิ๊กโปรเจค โดยลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินกับ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ภายใต้การสนับสนุนจากบีโอไอในการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี และยังมีแผนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งดีลการขายที่ดินครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่มากกว่าการเป็นฐานการผลิต อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดสู่การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในระยะต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม 9 เดือนแรก 2566 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 415 ไร่ และยอด MOU รวม 430 ไร่ ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายฐานทุนและเศรษฐกิจเวียดนามที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1-เหงะอาน ดำเนินการก่อสร้างเฟส 1 ขนาด 900 ไร่ โดยได้มีการขายพื้นที่ให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การแปรรูปอาหาร วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ไปแล้วกว่า 77% ของพื้นที่เฟส 1 และด้วยความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมที่สูง บริษัทฯจึงเร่งดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 พื้นที่ขนาด 2,215 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยขณะนี้ มีลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภทบนพื้นที่ดินกว่า 300 ไร่เรียบร้อยแล้ว โดยช่วงไตรมาส 3/2556 ที่ผ่านมา มีบริษัทผู้ผลิตเลนส์กล้องและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องให้แบรนด์มือถือรายใหญ่จากประเทศจีน ได้ลงนามในสัญญาจองพื้นที่ดินราว 260 ไร่ อีกทั้งยังมีลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายรายที่ได้ลงนามในสัญญาจองพื้นที่ดินรวมกว่า 150 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตภายในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ 1-เหงะอาน เฟส 2 นี้ด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง รวมพื้นที่ 20,950 ไร่ (3,350 เฮกตาร์) ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่ ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติ Project Master Plan ให้ดำเนินโครงการ โดยมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และยังมีเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone – Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตต่าง ๆ ในปี 2569 หรือ 2570 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังจากได้รับการอนุมัติใบอนุญาต

ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินเพิ่มเติมได้ตามเป้าหมายการขายที่ดินจำนวน 2,750 ไร่ ที่ได้ประกาศไว้

ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ)  มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภครวมในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 เท่ากับ 713 ล้านบาท และ 2,142 ล้านบาท บริษัทฯ มีปริมาณยอดขาย และบริหารน้ำทั้งในประเทศ และต่างประเทศรวมสำหรับไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 เท่ากับ 41.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 116.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในและต่างประเทศที่มีการเติบโตขึ้น

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2566 มีปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศ จำนวน 32.1 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการเติบโตเพิ่มขึ้นของปริมาณยอดขายโดยรวมเติบโตขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำดิบ (Raw Water) และผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Water) ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้ากลุ่มพลังงาน ได้แก่ Gulf SRC, Gulf TS3 และ TS4 กอปรกับในไตรมาส 3/2566 โรงผลิตน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มจำหน่ายน้ำให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 โดยมีปริมาณตามสัญญา 2.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าตามสัญญารวมประมาณ 1,800 ล้านบาท

ขณะที่ปริมาณยอดขายและบริหารน้ำในประเทศเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 9.2 และ 24.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากปริมาณการจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River ที่เติบโตขึ้นจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ และความต้องการใช้น้ำของกลุ่มลูกค้าเดิมที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเวียดนาม จึงส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการ Doung River ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 1.8 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ที่รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอยู่ที่ 90.2 ล้านบาท และคาดว่ายอดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำเสียในประเทศเวียดนามจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ตามความต้องการของลูกค้าที่ทยอยเปิดดำเนินการในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 และแผนการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในประเทศเวียดนาม

ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 เท่ากับ 503 ล้านบาท และ 1,186 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/2566 ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรกลุ่มโรงไฟฟ้า SPPs เพิ่มขึ้น จาก Margin ที่ได้รับจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากค่า Ft ที่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ต้นทุนก๊าซธรรมชาตินั้นมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มจำนวน 9 สัญญา โดยแบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 6 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 12 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC Service จำนวน 3 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 0.8 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ ไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 179 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ประมาณ 104 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ราว 730 เมกะวัตต์

“บริษัทฯ ยังคงมุ่งหน้าขยายโครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ลงนามในสัญญาร่วมกับ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด หรือ AAT เพื่อติดตั้งโซล่าร์แบบลอยน้ำ (Solar Floating) กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 8 เมกะวัตต์ ซึ่งมีขนาด 60,000 ตารางเมตร โดยคาดว่าจะ COD ภายในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า และการติดตั้ง Solar Floating ดังกล่าวจะช่วยให้ AAT ได้ใช้พลังงานสะอาดและสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 5,400 ตันต่อปี”

ส่วนการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) เฟส 1 จำนวน 5 โครงการ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ อยู่ในกระบวนการเซ็นสัญญา PPA ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปี 2567 และกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในช่วงปี 2572-2573

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจพลังงานในประเทศไทย และเวียดนาม รวมถึงแสวงหาโอกาสตลาดใหม่ในประเทศอื่นๆ โดยเน้นที่โครงการพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้จากความสำเร็จจากความร่วมมือกับพันธมิตร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซอร์ทิส เอไอ เอ็นเนอร์จี จำกัด ภายใต้ บริษัทร่วมทุน "RENEX TECHNOLOGY" เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (Peer-to-Peer) ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมเป็นผู้ซื้อขายพลังงานบนแพลตฟอร์มนี้แล้วกว่า 54 รายด้วยกัน

ธุรกิจดิจิทัล WHA Group ยังคงเดินหน้าภารกิจ “Mission To The Sun” ซึ่งมี 9 โครงการ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ สู่การยกระดับการพัฒนาองค์กร และบุคลากรของบริษัทฯ มุ่งสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยปัจจุบันมี 3 โครงการที่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ได้แก่ Green Logistics เป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศในระยะยาว นอกจากนั้นยังมีโครงการ Digital Health Tech การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยให้สามารถจัดการสุขภาพแบบองค์รวม และโครงการ Circular Economy ที่ช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบนิเวศของบริษัทฯ อาทิ การจัดการขยะอุตสาหกรรมของโรงงานเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของโรงงานอื่น หรือเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม