“ทรีนีตี้” แนะโค้งท้ายลงทุนหุ้นปันผลรับฟันด์โฟลว์ไหลเข้าปีหน้า

25 ต.ค. 2566 | 13:45 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 13:54 น.

“ทรีนีตี้” แนะโค้งท้ายลงทุนหุ้นปันผล มองปี 2567 หุ้นไทยชนะหุ้นโลกถูกเป็นอันดับ 3 ในรอบ 15 ปี เป้าหมายดัชนีอยู่ที่ 1560 - 1650 จุด ต่างชาติจะหวนซื้อสุทธิหลังขายหนักกว่า 1.7 แสนล้าน

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนโค้งสุดท้ายของปีว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนสูงมากในช่วงสั้น Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีสินทรัพย์เสี่ยงตอบสนองต่อข่าวทุกอย่างเป็นข่าวร้าย ซึ่งในเชิงของ Asset Allocation ในช่วงสั้น 1-2 เดือน แนะนำลงทุนให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือเทอมฟันด์และหาจังหวะลงทุนในหุ้นไทยที่มีปันผลสูง เนื่องจากราคาหุ้นได้ลดลงมากแล้วทำให้หุ้นที่มีปันผลสูงจะได้รับฟันด์โฟลว์ไหลเข้า เมื่อเหตุการณ์ตะวันออกกลางคลี่คลาย ในเชิงของหุ้นที่จะ outperform จะมีลักษณะ  low Beta, เงินปันผลในอนาคตสูง (Forward Dividend) และค่า P/E ต่ำ

“ในปี 2566 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบกว่า 13% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นผ่านการขึ้นดอกเบี้ยหลายๆ ครั้งของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี สภาพคล่องภายในที่ลดลงอย่างมาก ความไม่มีเสถียรภาพของปัจจัยทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยกว่า 1.7 แสนล้านบาท เกือบ 84% ของเม็ดเงินที่ไหลเข้าในปี 2565 แต่ซื้อพันธบัตรเบาบางแค่  2 หมื่นล้านบาท” ดร.วิศิษฐ์ กล่าว

 

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางตลาดหุ้นในปี 2567 มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยที่เป็นบวกจาก Valuation ใน Forward P/Book Value ที่ถูกเป็นอันดับ 3 ในรอบ 15 ปี การเติบโตของ GDP ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเติบโตลดลง ดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มถึงจุดอิ่มตัว และจะปรับตัวลดลงในกลางปี 2567 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรต่อหุ้นที่เติบโตกว่า 15% ในปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบติดลบ 5% ในปี 2566

หุ้นไทยจะ outperform หุ้นโลก เนื่องจาก 1.การเติบโต GDP ของไทยจะดีกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นโลก 2.Valuation หุ้นไทยยังคงไม่แพงในแง่ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี และในเชิง Earning Yields Gap (ส่วนกลับของ P/E กับผลตอบแทนพันธบัตร) โดยคาดการณ์ดัชนี SET index เป้าหมายในปี 2567 ที่ระดับ 1650 โดยอาศัยสมมติฐาน EPS 2025 ที่ 113 บาท และ Bond Yields 10 ปีที่ 3.3% แต่ถ้าเป็น Forward PE ที่ 13.4x และดอกเบี้ย RP ที่ 2.25% จะได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1560 ปีหน้านักลงทุนต่างชาติ จะขายตลาดหุ้นไทยน้อยลง เนื่องจากปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 1.6-1.7 แสนล้านบาท หลังจากเป็นฝ่ายซื้อสุทธิกว่า 2 แสนล้านบาทในปี 2565 ถือได้ว่านักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิกว่า 8 แสนล้านบาทในรอบ 13 ปี ตั้งแต่การใช้ QE เป็นต้นมา

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล

นอกจากนี้ มองว่า ในปี 2567 นักลงทุนจะเป็นฝ่ายซื้อตราสารทุนสุทธิ แต่จะขายตราสารหนี้สุทธิ โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรไทยประมาณ 9.4 แสนล้านบาท หรือ 11.6% และน้ำหนักของพันธบัตรประเทศไทยใน JP Morgan Local Government Bond index (GBI-EM GD) อยู่ที่ 10% แต่ในช่วงระยะเวลา 10 เดือน นับตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2024 น้ำหนักของพันธบัตรประเทศอินเดียจะถูกรวมเข้าคำนวณในดัชนี อาจจะทำให้ Fund Flow ออกจากพันธบัตรไทย 1.7 แสนล้านบาท เพื่อถูกแทนที่โดยน้ำหนักการลงทุนของพันธบัตรประเทศอินเดีย

สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว มองดอกเบี้ย Fed Fund ว่า จะเริ่มจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในไตรมาส 3 ปีหน้า เมื่อ Fed หยุดการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนในทางบวก ในเอเชียรวมทั้งในประเทศไทยมองเงินเฟ้อปี 2567 เริ่มกลับสู่ระดับ 2% ใกล้เคียงกับระดับการเกิด COVID และเริ่มกลับสู่ระดับที่สบายใจของธนาคารกลางทั่วเอเชีย ซึ่งเป็นภาวะที่เปลี่ยนจากเงินเฟ้อสู่ระดับ Low - flation   

ในส่วนของ Bond Yields พันธบัตรของสหรัฐฯ มองว่าจะเข้าสู่ระดับ Peak ในไตรมาส 4 เช่นเดียวกัน Fed Fund ของสหรัฐฯ จะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 4/2566 ส่วนราคาน้ำมันที่ระดับราคา US$ 100/Barrel จะนำไปสู่ Demand Destruction หรือภาวะน้ำมันแพงนำไปสู่การใช้น้ำมันที่ลดลง ส่วนค่าเงิน US$ อยู่ใน Zone ราคาแพงหรือมูลค่าเกินความเป็นจริง แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ.